พระที่นั่งและหอในหมู่พระมหามณเฑียร

grand palace clip image005

grand palace2 clip image006 grand palace2 clip image007
หมู่พระมหามณเฑียร
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และจากการวิเคราะห์
ทางเข้าหมู่พระมหามณเฑียร

 


 พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

 piman clip image001

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหามณเฑียร มีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมไทย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว 3 องค์แฝดเรียงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก พระที่นั่งองค์กลางเป็นพระที่นั่งโถง มีพระทวารและอัฒจันทร์ลงสู่มุขกระสัน ซึ่งเป็นท้องพระโรงหน้าทางด้านเหนือ และท้องพระโรงหลังทางด้านใต้ พระที่นั่งองค์ตะวันออก เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ และเป็นสถานที่เสด็จประทับในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีลักษณะที่งดงามมาก

 

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

pisart clip image002 pisart clip image004

พระที่นั่งไพศาลทักษิณสร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางท้องพระโรงหน้า ทอดจากทิศตะวันออกไปตะวันตก พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรพระราชอาสน์และพระที่นั่งภัทรบิฐ

 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

amarin clip image002   amarin clip image003

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมานสร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางด้านเหนือ โดยมีพระทวารเทวราชมเหศวร์ของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นทางเสด็จออกสู่พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเสด็จออกว่าราชการสำคัญ ทั้งยังใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีในงานสิริมงคลและการพระมหากุศลเป็นครั้งคราว และเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคมและเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ

สถาปัตยกรรม เป็นแบบท้องพระโรงยกพื้นสูงสร้างแบบก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ตกแต่งหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีเขียว ขอบสีส้ม ลวดสีเหลือง ประดับด้วยช่อฟ้า หางหงส์ ประดับกระจกสีทอง ภายในองค์พระที่นั่งประดิษฐานพระแท่นราชบัลลังก์ 2 องค์คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ อันเป็นพระราชอาสน์สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ประทับในงานพระราชพิธี ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร

 

พระที่นั่งเทพสถานพิลาสและพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล
พระที่นั่งทั้งสององค์นี้คือพระปรัศว์ซ้ายขวาของพระที่นั่งจักรพรรดิมาน เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน

 

หอพระสุราลัยพิมาน

saralai clip image002 0000   saralai clip image002 0001

เดิมเรียกว่า “หอพระเจ้า” เป็นหอเล็กๆชั้นเดียวอยู่ทางตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ สร้างในรัชกาลที่ 1 เป็นที่ประดิษฐาน ปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปสำคัญ

 

หอพระธาตุมณเฑียร
อยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบูรพการี ที่ผนังด้านเหนือของหอพระธาตุมณเฑียรเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดออกสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฝ่ายตะวันตก เรียกกันว่า “ สีหบัญชร” เป็นสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เฝ้าฯ แทนการเสด็จออกท้องพระโรงส่วนมากเป็นการเฝ้าในเวลาวิกาล

 



พระที่นั่งและหอในกำแพงแก้วพระมหามณเฑียร มี 4 องค์คือ

1. พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
ตั้งอยู่ตรงมุมต่อระหว่างกำแพงแก้วด้านเหนือและตะวันตกพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้น ในรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นพลับพลาโถง ในรัชกาลที่ 3 ซ่อมแปลงให้มีผนังก่ออิฐ เขียนสีทั้งภายในและภายนอก ในรัชกาลที่ 4 ทรงขยายกำแพงแก้วด้านหน้า พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยออกไปทางเหนือ แล้วโปรดให้ย้ายเกยพระราชยานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออก สับที่กับเกยพระคชาธารซึ่งอยู่ทางเหนือ เพื่อความสะดวกในการนำพระคชาธารเข้าเทียบ พระที่นั่งองค์นี้เป็น พลับพลาเปลื้องเครื่อง ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธารหรือพระราชยาน

grand palace7 clip image002 0000   grand palace7 clip image002

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ (อดีต)
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์

  พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ (ปัจจุบัน)
grand palace7 clip image004
เกยพระคชาธาร

2. พระที่นั่งราชฤดี
ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ สรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นพระที่นั่งพลับพลาโถงตรีมุข เดิมพระราชทานนามว่า “ พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส” ต่อมาในพุทธศักราช 2466 ทรงเปลี่ยนเป็น “ พระที่นั่งราชฤดี”

grand palace7 clip image002 0002 1
พระที่นั่งราชฤดี

 

3. พระที่นั่งสนามจันทร
ตั้งอยู่ที่ลานข้างมุขพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก เป็นพลับพลาโถงไม้ขนาดเล็ก สร้างในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าใช้เป็นพระที่นั่งเย็นและเสด็จออกขุนนางเป็นบางครั้ง แทนการเสด็จออกพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัย

grand palace71
พระที่นั่งสนามจันทร 

 

4. หอศาสตราคม
ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เดิมสถานที่นี้เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งโถงซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 1 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง แล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับพระสงฆ์ฝ่าย รามัญนิกายทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกทำน้ำเจริญพระพุทธมนต์ สำหรับสรง สรงพระพักตร์ และทำการประพรมรอบพระมหามณเฑียร

grand palace72
หอศาสตราคม 

 

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com