พระราชอุทยานสราญรมย์

srarom 1

ที่ตั้ง
อยู่ระหว่างถนนเจริญกรุงตัดกับถนนราชินี แขวงพระราชวัง สำนักงานเขตพระนคร กรุงเทพฯ

เนื้อที่  23 ไร่

สร้างประมาณ พ.ศ. 2515

ประวัติ
สวนสราญรมย์ แต่เดิมเป็นเขตพระราชอุทยานในพระราชวังสราญรมย์ ( ปัจจุบันเป็นที่ทำการกระทรวงต่างประเทศ) ี่สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4) โดยมีพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ( เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงในรัชกาลที่ 5) เป็นแม่กองก่อสร้างขึ้นตรงที่เคยเป็นตึกดิน โดยมีพระราชดำริว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนพินิตประชานารถ ( พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวชแล้ว จะทรงมอบราชสมบัติให้และพระองค์จะประทับเป็นพระเจ้าหลวง ช่วยแนะนำข้อราชการแผ่นดิน ณ พระราชวังสราญรมย์ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

การตกแต่งพระราชอุทยานสราญรมย์นี้ เจ้าหมื่นไวยวรนาถได้ทูลขอนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในทางพฤกษศาสตร์ เป็นเจ้าพนักงานดูแลปลูกและตกแต่งต้นไม้ในบริเวณพระราชอุทยานและสั่งกล้วยไม้ต่างประเทศ์ เข้ามาปลูกในสวนหลวง พระราชอุทยานสราญรมย์ในสมัยนั้น คงสวยงามด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ นอกจากนั้นยังมีสระจระเข้และสวนสัตว์ ต่อมาเมื่อโปรดให้สร้างพระราชวังสวนดุสิตแล้วก็ย้ายไปเลี้ยงไว้ในสวนดุสิต พระราชอุทยานสราญรมย์จึงเป็นเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายในและเป็นที่รองรับแขกเมือง

srarom 2 
srarom 4

 

รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และใช้เป็นสถานที่รับรองเจ้านายต่างประเทศที่มาเยือน สภาพของพระราชอุทยานสราญรมย์ขณะนั้น พระยาสุนทรพิพิธเล่าไว้ในเรื่อง “ สวนอนุสรณ์” ว่า

“ ในสมัยรัชกาลที่ 5 สวนสราญรมย์ได้รับการตกแต่งบำรุงอย่างร่มรื่นน่าชื่นชม นับแต่ประตูเข้าด้านทิศเหนือ ตามถนนตรงไปทางทิศใต้ เริ่มแรกการเดินทางด้านตะวันตกในสระจระเข้ ซึ่งมีเลี้ยงไว้ให้ชมประมาณ 3 ตัว ต่อจากสระเข้ไปเป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานรักษาสวน ระหว่างถนนกับกำแพงด้านทิศตะวันตกเป็นสวนไม้ดอกไม้ใบ ตลอดไปจนถึงอาคารที่ตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธปัจจุบัน ตรงนั้นเป็นสวนสัตว์ ซึ่งใส่กรงขังไว้ มีเสือ หมี ลิง และชะนี มีโซ่ล่ามโยงไว้ และมีเรือนพักของเจ้าหน้าที่รักษาสวนสัตว์อยู่อยู่ใกล้มุมกำแพง ในทางด้านทิศตะวันออกจากประตูดังกล่าวก็มีถนนผ่านไป และไปบรรจบกันในทางทิศใต้ จากประตูเข้าไปก็ผ่านสระน้ำ ซึ่งโดยรอบมีแปลง ไม้ดอกไม้ใบ และมีเนินดินย่อมๆ ประดับหินก้อนอยู่ริมสระด้านเหนือ ส่วนริมสระด้านทิศใต้มีศาลารมย์อยู่หลังหนึ่ง ในสระนี้มิได้เลี้ยงสัตว์ ใช้เป็นที่เล่นสำราญได้ ต่อจากสระไปทางซ้ายมือมีเก๋งจีนตั้งอยู่และมีแปลงดอกไม้โดยรอบ ซึ่งข้างเก๋งจีนทางด้านทิศใต้เป็นสนามเล่นกีฬา ด้านทิศหรดีมีศาลาโถงเรียกกันว่า กระโจมแตร ( เป็นที่บรรเลงแตรวงทหารเรือหรือดนตรีอื่นๆ) อยู่ทางทิศตะวันตกของสนาม ส่วนด้านทิศตะวันออกของสนามก็มีเรือนกระจก ( ตึกโถงชั้นเดียวกรุกระจกมีดาดฟ้าใช้ได้) ตั้งประชิดอยู่ริมกำแพง และต่อไปทางกำแพงด้านทิศใต้ก็เป็นสวนสัตว์ และสวนดอกไม้ดังกล่าว”

 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีย์พระบรมราชเทวี เคยเสด็จประพาสสวนนี้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย หลังจากสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มที่บางพูด ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ. ศ.2423 รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกแห่งสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยเสด็จประพาสสำราญพระราชหฤทัย เช่น บางปะอิน น้ำตกพริ้ว และที่พระราชอุทยานสราญรมย์นี้ด้วย อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ที่กลางอุทยานค่อนข้างมาทิศใต้ สร้างด้วยหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นรูปปรางค์ห้ายอด ตั้งอยู่บนฐาน 6 เหลี่ยมและจารึกคำไว้อาลัยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

srarom 3

สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้พระราชวังสราญรมย์เป็นที่จัดงานฤดูหนาวตลอดรัชกาล จนถึงรัชกาลที่ 7 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วทรงโปรดฯ ให้รัฐบาลดูแลรักษาเพื่อให้คณะราษฎร์อาศัยเรียกว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ ต่อมาสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย และกรมประชาสงเคราะห์ได้มาอาศัยตั้งที่ทำการเขตพระราชอุทยานนี้ด้วย จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน พ. ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติมอบให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นผู้ดูแลรักษาอุทยาน

ในปี พ. ศ. 2519 คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะปรับปรุงบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์เป็นสวนรุกขชาติ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ปรังปรุงบริเวณพระราชอุทยานสราณรมย์เป็นสวนรุกขชาติ พร้อมด้วยถาวรวัตถุในอุทยาน อาทิ น้ำพุพานโลหะ อนุสาวรีย์ ศาลาแปดเหลี่ยม ศาลารมย์ เรือนกระจก ศาลาโจมกระแต เก๋งจีน ฯลฯ

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com