สนามหลวง

       สนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุนั้น มีคติในการจัดตั้ง หรือสร้างขึ้นโดยได้จำลองแบบมาจากคติความเชื่อในเรื่องมณฑลจักรวาล อันเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งปวง โดยได้แสดงออกมาในรูปของสัญลักษณ์แทนสรรพสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลเชิงบุคลาธิษฐาน แสดงเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สถานที่หนึ่งที่อยู่ในความเชื่อเรื่องคติมณฑลจักรวาล กล่าวคือ สนามหลวง แต่เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุได้รับการกำหนดขึ้นให้สำหรับใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง รวมถึงสมเด็จพระสังฆราชด้วย ซึ่งพระมหากษัตริย์และสถาบันของพระมหากษัตริย์ในคติความเชื่อเรื่องมณฑลจักรวาลนั้น เปรียบพระมหากษัตริย์เหมือนเทพ ที่เป็นศูนย์กลางของความยิ่งใหญ่ และสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสถาบันกษัตริย์ ที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก โดยจำลองระบบความเชื่อเรื่องจักรวาลมา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง แต่เดิมมีอาณาเขตไม่ใหญ่โตเท่าปัจจุบัน ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระเมรุมาศ การประกอบพระราชพิธี และการแสดงมหรสพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกคำว่าทุ่งพระเมรุ เปลี่ยนเป็น "ท้องสนามหลวง" ส่วนการที่สนามหลวงได้ขยายอาณาเขตไปกว้างขวางดังปัจจุบันเนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหลังจากพระมหาอุปราชแห่งวังหน้าองค์สุดท้ายทิวงคต เมื่อเวลาผ่านไปป้อมปราการสถานที่ในวังหน้าทรุดโทรมลงจึงโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อส่วนที่ทรุดโทรมโดยเฉพาะชั้นนอกด้านตะวันออกเปิดเป็นท้องสนามหลวง และเมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็โปรดเกล้า ฯ ให้ตกแต่งพระนครให้ทันสมัย ขยายท้องสนามหลวงขึ้นไปทางทิศเหนือ ตกแต่งบริเวณท้องสนามหลวงเป็นรูปไข่และปลูกต้นมะขามโดยรอบดังเช่นปัจจุบัน

บรรณานุกรม

ดวงเด่น แสงสิทธิ์. "การศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของสนามหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่แรกเริ่มจนถึงพุทธศักราช 2543." สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com