กรมการรักษาดินแดน

ที่ตั้ง
ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
กรมการรักษาดินแดนแต่เดิมชื่อว่ากรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พื้นที่เดิมเป็นที่ตั้งของวังสนามชัย วังที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งพื้นที่วังสนามชัยวังที่ 2 มาสร้างวังนี้เพื่อพระราชทานแด่กรมหมื่นอดุลยลักษณ์สมบัติ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายอุไร พระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเขียว ทรงเป็นต้นราชสกุลอุไรพงศ์ ณ อยุธยา พระองค์เสด็จประทับ ณ วังแห่งนี้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2411 จึงย้ายไปประทับที่วังถนนน้าพระลานวังตะวันตก วังนี้จึงกลายเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 25 ในพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงเป็นต้นราชสกุลทองใหญ่ ณ อยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรกรุณาโปรดเกล้าซื้อที่ดินวังนี้เพื่อสร้างอาคารราชวัลลภขึ้นในปี พ.ศ. 2466 ใช้เป็นที่ทำการของทหารราชวัลลภ ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ย้ายกรมรักษาดินแดนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาอยู่ที่อาคารแห่งนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารกรมรักษาดินแดนมีความยาวขนานกับถนนเจริญกรุง ด้านหน้าอาคารอยู่ระหว่างถนนมหาไชยบรรจบกันถนนเจริญกรุง เป็นอาคาร 2 ชั้น เฉพาะบริเวณที่เป็นมุขกลางเท่านั้นที่ก่อเป็นอาคาร 3 ชั้น บริเวณหน้ามุขชั้นที่ 2 ประดับด้วยประติมากรรมนูนต่ำเขียนสีเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5 ต่ำลงมาจารึกปีที่สร้างอาคารราชวัลลภคือ พ.ศ 2466 ตัวอาคารรองรับด้วยเสากลมใหญ่จำนวน 8 ต้น ตกแต่งด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบไอโอนิคของกรีก ฐานเสาเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตัวเสาสลักเป็นร่องลึกไปตามแนวดิ่ง บริเวณเสาตกแต่งเป็นลวดลายขดรูปก้นหอย วางในแนวตั้งยันรับกับกันสาดและมีหูช้างขดเป็นก้นหอยยันระหว่างกันสาดกับหลังคา กรอบบนของหน้าต่างตกแต่งเป็นซุ้มโค้งและซุ้มเส้นตรงสลับกัน ผนังตอนบนใต้หลังคาติดกระจกและประดับลวดลายปูนปั้นเป็นแนวยาว บริเวณหน้าบันหลังคาเป็นลวดลายแบบกรีกโรมัน เดิมมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวแต่เมื่อมีการบูรณะอาคารในปี พ.ศ. 2510 ได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่



อาคารเป็นตึก 2 ชั้น ยกเว้นด้านหน้าเป็นตึก 3 ชั้น

หน้ามุขชั้นที่ 2 ประดับด้วยประติมากรรมนูนต่ำ
เขียนสีเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5 และปี พ.ศ 2466

 


บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com