โรงละครแห่งชาติ

ที่ตั้ง
ถนนราชินี แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
แต่เดิมกรมศิลปากรได้ดัดแปลงอาคารหอประชุมเดิมซึ่งสร้างไว้เป็นเรือนไม้ข้างพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นโรงละครชั่วคราว เพื่อใช้แสดงโขน ละคร ฟ้อนรำ และดนตรี มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ต่อมารัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงละครแห่งชาติ ทางราชการจึงได้ตั้งคณะกรรมการสร้างโรงละครแห่งชาติขึ้น โดยมีพลตรีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ สถานที่ก่อสร้างคือบริเวณถนนราชินีทางตอนเหนือของพิพิธพัณฑสถานแห่งชาติเดิมเคยเป็นที่ตั้งของกระทรวงคมนาคม ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมโยธาฌทศบาล ในระหว่างที่สถาปนิกกำลังดำเนินการออกแบบโรงละครแห่งใหม่ ได้เกิดเพลิงไหม้ โรงละครชั่วคราว ประธานกรรมการสร้างโรงละครจึงออกแบบและคำนวณแบบก่อสร้าง มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2503 ในขณะที่การก่อสร้างใกล้จะเสร็จตามสัญญาพลตรีหลวงวิจิตร วาทการ ถึงแก่อนิจกรรม พลเอกถนอม กิติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เป็นประธานกรรมการก่อสร้างโรงละครแทนต่อมา การก่อสร้างแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2508 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 5 ปี

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
โรงละครแห่งชาติประกอบด้วยอาคาร 3 ส่วน คือ อาคารโรงละครส่วนกลาง สถาปนิกผู้ออกแบบคือนายอิสสระ วิวัฒนานนท์ สถาปนิกผู้แก้ไขเพิ่มเติมภายหลังคือ ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร และวิศวกรคือ ดร.รชฏ กาญจนวณิชย์ อาคารปีกโรงละครแห่งชาติทั้งสองด้านเป็นอาคารหลังคาทรงไทยสูง 5 ชั้น สถาปนิกผู้ออกแบบคือนายอิสสระ วิวัฒนานนท์ วิศวกรคือนายไพรัช ชุติกุล และลานจอดรถหน้าโรงละครสถาปนิกผู้ออกแบบคือ ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร และวิศวกรจากรมโยธาเทศบาล

อาคารโรงละครแห่งชาติเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น รูปตัวที เป็นแบบทรงไทยประยุกต์โดยผสมผสานระหว่างหลังคาทรงไทยซ้อน 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้น เรียบแบนต่อเป็นแผ่นเดียวกันกับตัวตึกแบบตะวันตก หน้าบันด้านอาคารเป็นปูนปั้นนูนสูง รูปพระพิฆเนศ ด้านข้างเบื้องบนตรงเหนือชายคาทั้ง 2 ข้าง เป็นซุ้มจรนัมข้างละ 3 ซุ้ม ติดภาพฉลุโลหะซุ้มละภาพ ซุ้มจรนัมด้านขวาเป็นภาพพระเป็นเจ้าทั้ง 3 เรียงจากหน้าโรงไปหลังโรงคือ พระนารายณ์ พระพรหม และพระอิศวร ส่วนซุ้มจรนัมด้านซ้ายเป็นภาพเทพเจ้าแห่งดุริยางคศิลป์ เรียงจากหน้าโรงไปหลังโรงคือ พระวิศนุกรรม พระปรคนธรรพ์ และพระปัญจสีขร ใต้ซุ้มจรนัมทั้ง 2 ข้างมีภาพปูนปั้นครึ่งซีกรูปเศียรครูทางนาฏศิลป์ ข้างละ 5 เศียรทั้งสองข้างเป็นภาพอย่างเดียวกันหากแต่กลับจากซ้ายเป็นขวาเท่านั้น คือ พระ นาง ยักษ์ ลิง ฤาษี ห้องโถงด้านหน้าของโรงละคร ช่องขวาด้านตะวันออก เป็นรูปรำซัดไหว้ครูชาตรี ช่องกลางเป็นรูปพระนารายณ์ปราบนนทุกเป็นเรื่องเบิกโรงโขนและละครใน ช่องซ้ายด้านตะวันตกเป็นรูปเจ้าเงาะและนางรจนาตอนเลือกคู่เป็นสัญญลักษณ์ของละครนอก



บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.
สมบัติ พลายน้อย. ร้อยแปดที่กรุงเทพฯ , กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2546.
ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com