กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร

ที่ตั้ง
ริมถนนพระสุเมรุ ตรงข้ามวัดบวรนิเวศน์วิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นแนวกำแพงและประตูเมืองอยู่ในช่วงระหว่างป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ ซึ่งเหลืออยู่เพียงประตูเดียวในจำนวนทั้งหมด 16 ประตูของกำแพงเมืองรอบพระนคร

ประวัติ
กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศวิหารนี้ เป็นส่วนที่เหลืออยู่ของแนวกำแพงเมืองชั้นนอกซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมนั้นแนวกำแพงเมืองชั้นนอกนั้นเริ่มจากปากคลองบางลำพูยาวจรดปากคลองโอ่งอ่าง อันเป็นแนวคูเมืองชั้นกลาง กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนี้มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นกำแพงเมืองเก่าซึ่งเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น


bovon 2 bovon 3


ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
กำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศน์วิหาร ก่อด้วยอิฐถือปูน ประตูมีลักษณะเป็นประตูเหลี่ยม มีช่องประตูรูปโค้ง ส่วนบนของประตูเป็นลูกกรงปูนปั้น สองข้างช่องประตูมีลายเส้นนูนเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เหนือโค้งประตูมีลายเส้นทแยงเข้าหากันตรงส่วนต่อที่กำแพงและสองข้างประตูทำเป็นรูปขดก้นหอยขนาดใหญ่อยู่ระดับเดียวกับใบเสมา กำแพงเมืองสองข้างประตูเป็นกำแพงใบเสมาชนิดปลายแหลม มีช่องตีนกาหรือช่องกากบาทเล็กๆ เป็นแนวอยู่ที่กำแพง ส่วนล่างของใบเสมามีชานเดินเลียบบนกำแพง และมีบันไดขึ้นบนเชิงเทินอยู่สองข้างประตู ส่วนยอดของประตูได้พังทลายลงมานานแล้ว โดยกำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรฯ ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมีขนาดดังนี้

  • - ความหนาของกำแพง 1.80 เมตร
  • - ความยาวของแนวกำแพง 40.00 เมตร
  • - ช่องประตูเมืองกว้าง 3.10 เมตร ลึก 5.15 เมตร
  • - แนวกำแพงสูง 6.00 เมตร
  • - ฐานกำแพงถึงซุ้มประตูสูง 12.00 เมตร พ.ศ. 2524

bovon 1 bovon 4

กรมศิลปากรได้บูรณะกำแพงและประตูเมืองหน้าวัดบวรฯ ขึ้นใหม่เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี โดยอาศัยรูปถ่ายเดิมครั้งรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นประตูยอดซึ่งแตกต่างจากประตูไม้ทาดินแดงในสมัยรัชกาลที่ 1 และประตูก่ออิฐข้างบนซึ่งใช้เป็นหอรบในสมัยรัชกาลที่ 3  ปัจจุบันบริเวณด้านซ้ายและขวาของกำแพงเป็นอาคารร้านค้าและโรงงาน ด้านหลังระหว่างกำแพงกับคลองรอบกรุงเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน สำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอนที่ 25 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2523

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 
 
 
สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com