โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๓๘ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง ช่วงระหว่างสี่กั๊กเสาชิงช้ากับวัดสุทัศน์เทพวราราม ถือเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่มีเครื่องพิมพ์เครื่องจักรที่ทันสมัย มีคนงาน ๗๐-๘๐ คน แบ่งหน้าที่ออกเป็นแผนก ๆ คือ ช่างหล่อตัวพิมพ์ ช่างแท่น ช่างเรียง ช่างพับ และห้องสมุด โดยรับจ้างพิมพ์หนังสืองานศพ หนังสือธรรมะ หนังสือแบบเรียน หนังสืออนุสรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือของหลวง เช่น ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น ผลงานที่สำคัญของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจคือการพิมพ์หนังสือโดยเสด็จพระราชกุศลในงานต่าง ๆ จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสรรเสริญไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระพุทธชินราช

เมื่อมีการพิมพ์หนังสือมากขึ้น ผู้พิมพ์พยายามเลือกหาหนังสืออื่น ๆ มาพิมพ์เผยแพร่แต่การพิมพ์ไม่สู้ดี มีพิมพ์ตก พิมพ์ผิด ทำให้ต้นฉบับเดิมเสียหาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระประสงค์จะรักษาต้นฉบับเดิมไว้ให้ไม่เลอะเลือนไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมศึกษาธิการจัดดำเนินการวิธี "พิมพ์หนังสือแบบหลวง" กรมศึกษาธิการจึงได้ปรึกษากับหลวงดำรงธรรมสารเจ้าของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นครั้งแรกตกลงกันว่าหลวงดำรงธรรมสารรับพิมพ์หนังสือแบบหลวงโดยเป็นการค้าขาย ทุนกำไรอยู่แก่โรงพิมพ์ ฝ่ายกรมศึกษาธิการรับจะออกแรงตรวจฉบับให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ที่จะรักษาวิชาหนังสือเท่านั้น

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจผลิตผลงานที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องจนถึงผู้บริหารรุ่นที่ ๔ คือนายธนู ธรรมาชีวะ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธรรมสารการพิมพ์”

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช. พิมพ์ครั้งที่ ๓. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๖๐.

พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราชนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชนิพนธ์และจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๔ เพื่อพระราชทานในงานฉลองพระพุทธชินราชที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในปีเดียวกันเพื่อเพิ่มเติมและแก้ไขเดือนวันที่และอักษรที่ผิด ในคำนำการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ มีกระแสรับสั่งทรงยกย่องหลวงดำรงธรรมสาร เจ้าของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจที่สามารถจัดพิมพ์ถวายได้ขณะที่มีเวลาเรียงพิมพ์ที่น้อยมาก ต่อมาในปี พ.ศ ๒๔๖๐ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอให้โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ ตัวพิมพ์ที่ใช้น่าจะเป็นตัวพิมพ์แบบเดียวกับการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๑ คือเป็นตัวเหลี่ยมหรือแบบบรัดเลย์ การออกแบบหน้าปกในครั้งนี้ทั้งหน้าปกนอกและหน้าปกในมีลักษณะที่เรียกว่า “การพิมพ์หนังสือแบบหลวง” คือแสดงครั้งที่พิมพ์ จำนวนที่พิมพ์ ปีพิมพ์ และชื่อโรงพิมพ์ โดยโรงพิมพ์สามารถกำหนดราคาได้ตามความเห็นชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามข้อกติการะหว่างกรมศึกษาธิการกับโรงพิมพ์ที่ตั้งไว้แต่ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๒

พระราชปรารภ เรื่อง พระพุทธชินราช พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๕

ประกาศพระราชบัญญัติแลพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชการที่ ๕ ปี ร, ศ, ๑๒๐. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๔๔.

จัดพิมพ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือที่พิมพ์ในรัชกาลนี้ส่วนใหญ่จะมีหน้าปกในให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเรื่อง ปีที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ จำนวนที่พิมพ์ และราคา การออกแบบหน้าปกในใช้ขนาดตัวใหญ่ตัวเล็กของตัวพิมพ์ย้ำความสำคัญของเรื่อง โดยใช้ลวดลายเป็นตัวคั่นข้อความชื่อเรื่องและข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์ การออกแบบรูปตัวพิมพ์น่าจะเป็นแบบที่เรียกว่าตัวเหลี่ยมหรือแบบบรัดเลย์ สังเกตจากเส้นนอนด้านบนของตัวอักษรหักเป็นเหลี่ยมเป็นมุม เช่น ตัว ค ตัว ฉ ตัว อ เป็นต้น หน้าปกนอกเป็นปกแข็งสันนิษฐานว่าจัดทำขึ้นภายหลัง ใช้ชื่อว่า "กฎหมายรัชกาล ที่ ๕ ปี ร.ศ. ๑๒๐" เนื่องจากตัวสะกดและเครื่องหมายคั่นระหว่าง ร.ศ แตกต่างจากหน้าปกใน กล่าวคือหน้าปกนอก คำว่า รัชกาล ใช้ ล สะกด หน้าปกใน ใช้ ร สะกด ส่วน ร.ศ. หน้าปกนอกใช้เครื่องหมายมหัพภาค (.) แต่หน้าปกในใช้เครื่องหมายจุลภาค (,)

กฎหมายรัชกาลที่ ๕ ปี ร.ศ. ๑๒๐

กฎหมายรัชกาลที่ ๕ ปี ร.ศ. ๑๒๐

นิบาตชาดก เอกนิบาต : สามวรรคภาคต้น. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๔๗

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดพิมพ์ขึ้นในการพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ หรือ ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ การออกแบบรูปตัวพิมพ์เป็นแบบที่เรียกว่าตัวธรรมดา สังเกตจากตัวพิมพ์ที่ไม่มีเส้นหนาเส้นบาง เส้นสม่ำเสมอกันตลอดทั้งตัวเป็นเส้นเล็กคม ลักษณะเดียวกับตัวเหลี่ยมหรือแบบบรัดเลย์ แต่เส้นนอนด้านบนเป็นเส้นโค้ง จุดเด่นคือ ญ หญิง ที่มีหางติดกับตัว การออกแบบหน้าปกในใช้ขนาดตัวใหญ่ตัวเล็กของตัวพิมพ์ย้ำความสำคัญของเรื่อง ล้อมกรอบด้วยลวดลายเพื่อความสวยงามและดึงดูดใจ มีคำนำเป็นกระแสพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สารบาญใช้คำว่า “บาญชีเรื่อง” มีการแจ้งแก้คำผิดโดยใช้คำว่า "ชำระคำ" นอกจากนี้ยังแจ้งแก้ไขการเว้นวรรคโดยใช้คำว่า “ชำระวรรคอักษร” ซึ่งปัจจุบันไม่มีการแจ้งแก้ไขวรรคตอนในตัวเล่ม เนื้อหาในเล่มกล่าวถึง อปัณ์ณกวรรค ที่ ๑ ศีลวรรค ที่ ๒ และกรุงควรรค ที่ ๓

นิบาตชาดก เอกนิบาต สามวรรคภาคต้น

พระธรรมเทศนา แลธรรมบรรยาย ศราทธพรตในการพระราชกุศลสักการ พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัววันที่ ๕ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๙. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๕๓.

จัดพิมพ์ขึ้นในการพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๙ หรือ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ตัวพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นตัวธรรมดา แต่มีบางตัวอักษร เช่น ศ มีลักษณะคล้ายตัวเหลี่ยม หน้าปกนอกและหน้าปกในมีข้อความเหมือนกัน ล้อมกรอบข้อความด้วยแถบสีดำขนาด ๔ ซม. การแจ้งแก้ไขคำผิดจัดทำเป็นกระดาษขนาด ๒x๑๒ ซ.ม. พิมพ์ข้อความว่า "พระราชภารเจ้า ให้อ่านว่า พระราชสมภารเจ้า" แทรกไว้ในหน้าที่มีคำผิด น่าจะมาจากการจัดในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่สามารถจัดทำหน้าชำระคำ เนื้อหาเป็นพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีพระราชบรมศพ

พระธรรมเทศนา

พระอริยมุนี (แจ่ม). หนังสือบรรพธรรม. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๕๖.

จัดพิมพ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนังสือปกแข็ง การทำหน้าปกในยังคงใช้ขนาดตัวใหญ่ตัวเล็กของตัวพิมพ์ย้ำความสำคัญของเรื่องล้อมกรอบด้วยลวดลายจำนวนหลายชั้น ใช้ตัวพิมพ์ธรรมดาในการจัดพิมพ์เนื้อหา คำนำเขียนโดยพระอริยมุนี (แจ่ม) แจ้งที่มาของหนังสือ การแจ้งแก้ไขคำผิดจัดทำเป็นหน้าชำระคำผิด ลักษณะพิเศษคือมีรอยปรุด้านติดกับสันหนังสือเพื่อให้ผู้ที่จะใช้หนังสือแก้ไขคำผิดก่อนใช้งานแล้วให้ฉีกหน้าชำระคำผิดทิ้งเสีย เนื้อหาเป็นข้อธรรมะ ๒๐ หมวด

หนังสือบรรพธรรม

ปัญญาสชาดก : ประชุมนิทานในประเทศนี้แต่โบราณ ๕๐ เรื่อง ภาคที่ ๘. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๖๘.

หอพระสมุดวชิรญาณคัดเลือกปัญญาสชาดกภาคที่ ๘ นี้ ให้แก่อำมาตย์โทหลวงนนทบัญชา (ทองดี ชาคร) ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานศพผู้ภรรยาตามความประสงค์ การนำเอกสารเก่ามาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนั้นถือภารกิจอันสำคัญของหอพระสมุดฯ จุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้มาตรฐานของชาติ ทั้งการจัดพิมพ์เองและอนุญาตการจัดพิมพ์แก่โรงพิมพ์อื่น เช่น โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โดยหอพระสมุดฯ จะทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบความถูกต้องตรงกับต้นฉบับและดูแลคุณภาพการพิมพ์ หนังสือในกลุ่มนี้จะปรากฏตราหอพระสมุดวิชิรญาณที่หน้าปกนอกและหน้าปกใน และเขียนคำนำแสดงที่มาของหนังสือลงพระนามโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปัญญาสชาดก

ข้อกติกาในระหว่างกรมศึกษา

๑. การพิมพ์หนังสือโดยวิธีนี้จะเรียกชื่อสั้น ๆ พอเข้าใจกันไว้ว่า "การพิมพ์หนังสือแบบหลวง"

๒. การพิมพ์หนังสืออย่างนี้ ทุนกำไรตลอดจนราคาที่จะซื้อขายก็ดี ขนาดและชนิดของหน้าหนังสือและกระดาษพิมพ์และการเย็บเหล่านี้ก็ดี ไม่เกี่ยวข้องแก่กรมศึกษาธิการ สุดแล้วแต่โรงพิมพ์จะเห็นประโยชน์และความสะดวกในการค้าขายก็ทำได้ตามความเห็นชอบ

๓. กรมศึกษาธิการจะรับตรวจแต่หนังสือให้ถูกต้อง และโรงพิมพ์จะต้องปฏิบัติตามในข้อนี้

๔. ในการที่กรมศึกษาธิการจะช่วยตรวจให้นั้น กรมศึกษาธิการจะได้ทำคำนำให้ไว้เป็นสำคัญ และจำเป็นที่กรมศึกษาธิการจะต้องรักษากรรมสิทธิ์แห่งคำนำนั้นไว้ กับจะได้สมมุติตราอย่างใดอย่างหนึ่งให้พิมพ์ในปกไว้เป็นเรื่อง ๆ เป็นเครื่องหมายด้วย ถ้าเรื่องใดควรจะเป็นตราแผ่นดินประจำรัชกาลก็จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ด้วย กับที่ใบปกต้องแสดงครั้งที่พิมพ์ จำนวนที่พิมพ์ในครั้งนั้น และปีที่พิมพ์ ชื่อโรงพิมพ์เป็นสำคัญ

๕. การตรวจก็ดี เครื่องหมายความรับผิดชอบของกรมศึกษาธิการในการตรวจดังกล่าวมาในข้อ ๔ นั้นก็ดี ให้ยึดถือเอาแต่เฉพาะเรื่องเฉพาะราวที่พิมพ์เท่านั้น เป็นต้นว่าโรงพิมพ์ได้พิมพ์ครั้งหนึ่ง๑,๐๐๐ ฉบับ เมื่อจำหน่ายหมดแล้วจะพิมพ์ขึ้นใหม่อีกตามนั้น และจะใช้เครื่องหมายดังข้อ ๔ นั้นเอาเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศึกษาธิการนั้นไม่ได้ เหตุฉะนั้นการที่เรื่องใดครั้งใดเป็นจำนวนเท่าใด โรงพิมพ์จะต้องแสดงจำนวนที่จริงให้กรมศึกษาธิการทราบ และพิมพ์จำหน่ายเฉพาะเท่าจำนวนนั้นทุกเรื่องทุกครั้ง และถ้ากรมศึกษาธิการจัดพนักงานผู้ใดไปตรวจก็ให้ตรวจได้โดยสะดวกทุกเมื่อ ฝ่ายข้างกรมศึกษาธิการนั้นก็รับว่าถ้าโรงพิมพ์ใดได้พิมพ์หนังสือเรื่องใดขึ้นแล้ว และจำหน่ายหนังสือเรื่องนั้นยังไม่หมด กรมศึกษาธิการก็จะไม่อนุญาตให้โรงพิมพ์อื่นตีพิมพ์หนังสือเรื่องนั้นเช่นเดียวกันเป็นอันขาด

๖. ถ้าจะพิมพ์หนังสือเรื่องใดคราวใดให้เจ้าของโรงพิมพ์ทำหนังสือขออนุญาตมายื่นยังกรมศึกษาธิการว่าจะขอพิมพ์หนังสือเรื่องนั้น ตามวิธีพิมพ์หนังสือแบบหลวงตามกติกาซึ่งได้ตั้งไว้แต่วันที่ เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘ เป็นจำนวนเท่านั้นฉบับ เมื่อผู้เป็นหัวหน้าในกรมศึกษาธิการได้ลงชื่ออนุญาตให้แล้วจึงเป็นอันพิมพ์ได้ครั้งหนึ่ง ๆ ตามกติกานี้

๗. กติกา ๖ ข้อข้างบนนี้เจ้าของโรงพิมพ์และกรมศึกษาธิการจะต้องปฏิบัติตามและยึดถือทำความเข้าใจเหมือนหนึ่งหนังสือสัญญานับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์เรื่องใดคราวใดนั้นไป และถ้าโรงพิมพ์กระทำผิดจากกติกาเหล่านั้น กรมศึกษาธิการมีอำนาจที่จะออกประกาศโฆษณาถอนสิ่งสำคัญและความรับผิดชอบในหนังสือที่พิมพ์ผิดนั้นเสียก็ได้

๘. ส่วนการพิมพ์นั้น เมื่อพิมพ์แล้ว ถ้าและโรงพิมพ์มีแก่ใจที่จะหยิบยกหนังสือที่พิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาคหลวงบ้างก็จะเป็นการสมควรแล้วแต่ความพอใจแห่งเจ้าของโรงพิมพ์ และจะเป็นความดีความชอบของเจ้าของโรงพิมพ์เอง

กติกานี้ตั้งไว้แก่ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘

สภากาชาดสยาม. ตำนานสภากาชาดสยาม เล่ม ๑. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๖๘.

การพิมพ์หน้าปกนอกและหน้าปกในเริ่มนำใช้สีแดงจัดพิมพ์ผู้แต่งคือสภากาชาดสยามเพื่อเป็นจุดเด่นในการดึงดูดสายตา ส่วนชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์จำนวนการพิมพ์ ปีพิมพ์ และโรงพิมพ์ใช้สีดำจัดพิมพ์ โดยใช้ตัวฝรั่งเศสเป็นตัวเน้นสำหรับพิมพ์หน้าปกนอก หน้าปกใน หัวข้อในเนื้อหา และภาพประกอบขาวดำ ส่วนภาพประกอบสีตัวอักษรที่ใช้บรรยายมีลักษณะเป็นเส้นหนาเส้นบบางเหมือนการเขียนด้วยปากกาคอแร้ง ตัวหนังสือมีสีดำกว่าตัวพิมพ์ธรรมดา เนื้อหาจัดพิมพ์ด้วยตัวธรรมดา เปลี่ยนคำเรียกสารบาญจาก “บาญชีเรื่อง” มาใช้คำว่า “สารบารพ์”

ตำนานสภากาชาดสยาม

คู่มือพุทธมามกะ. พระนคร : บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๗๑.

หนังสือมีขนาดเล็กมากแต่มีการพิมพ์จำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เล่ม การออกแบบปกหนังสือใช้ความแตกต่างของลักษณะตัวพิมพ์ 2 แบบ โดยหน้าปกนอกและหน้าปกในส่วนของชื่อเรื่องและคำอธิบายการจัดพิมพ์ใช้ตัวธรรมดา ขณะที่ชื่อบุคคลใช้ตัวฝรั่งเศส เนื้อหาภายในเล่มใช้ตัวฝรั่งเศสทั้งหมดยกเว้นหัวข้อเรื่องใช้ตัวธรรมดาเพื่อเน้นความ เหตุที่เรียกตัวพิมพ์นี้ว่าตัวฝรั่งเศส กำธร สถิรกุล อธิบายว่าเพราะแม่ทองแดงที่ใช้หล่อตัวพิมพ์ทำมาจากประเทศฝรั่งเศส ตัวพิมพ์ออกแบบด้วยความประณีตภายใต้การดูแลของหลุยส์ รอมิเออ ตัวพิมพ์มีความน่าสนใจทั้งในแง่รูปแบบและประโยชน์ใช้สอยจึงได้รับความนิยม คงความทันสมัย และเป็นต้นแบบการออกแบบตัวพิมพ์ในยุคต่อมา/p>

คู่มือพุทธมามกะ พระสาสนโสภณ วัดเทพศิรินทราวาส

พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ควรมีไว้ประจำบ้าน. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๗๖

จัดพิมพ์ขึ้นในยุคที่ร้านบล็อกไม่ได้เป็นแผนกหนึ่งของโรงพิมพ์ แต่แยกตัวออกมากลายเป็นหน่วยการผลิตที่มีสถานะเป็นสำนักงานช่าง รับจ้างออกแบบตกแต่งหน้าตาของสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ หน้าปกนอกและปกในของหนังสือเล่มนี้ออกแบบโดยสำนักงานออกแบบชื่อ “คณะช่าง” มีชื่อปรากฏอยู่ที่มุมขวามือด้านล่างของหน้าปกหนังสือ คณะช่างก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นยุคที่กิจการการพิมพ์นิยมประดิษฐ์หรือการวาดตัวอักษรด้วยมือแล้วนำไปทำแม่พิมพ์อีกทีหนึ่ง เนื้อหาภายในเล่มใช้ตัวฝรั่งเศส หน้าสารบาญใช้คำว่า “สารบาญเรียงตามลำดับ” แต่ไม่มีเลขหน้าต่อท้ายเรื่องในสารบาญ

พระราชบัญญัติใหม่ ๆ

ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. พระนคร : โรงพิมพบำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๙๕.

หนังสือจัดพิมพ์ในยุคที่นำศิลปะมาใช้กับตัวพิมพ์เรียกว่ายุคคณะช่าง อยู่ในช่วงระหว่างปี ๒๔๘๔ – ๒๔๙๙ หน้าปกใช้ตัวอักษรแบบตัวเขียนมีขนาดแตกต่างกันไป ชื่อเรื่องตัวอักษรมีขนาดใหญ่จัดเรียงเป็นแนวโค้งเพื่อดึงดูดสายตาผู้อ่าน ตัวอักษรหน้าปกมีสีดำและตัวหนา ซึ่งเป็นพัฒนาการที่แตกต่างจากยุคก่อน การออกแบบการจัดพิมพ์เนื้อหาภายในเล่มยังคงใช้ตัวฝรั่งเศสในการเรียงพิมพ์หัวข้อเรื่อง ท้ายเล่มมีชื่อโรงพิมพ์และผู้พิมพ์ ซึ่งแต่เดิมชื่อโรงพิมพ์จะปรากฏที่หน้าปกนอกและหน้าปกใน

ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย