ระเบียงภาพ


ประวัติ

     

               กลุ่มผู้บริหารห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2518 ได้ริเริ่มการปรับปรุงห้องสมุดในด้านต่างๆ โดยจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พิจารณาแนวทางปรับปรุง และพัฒนางานห้องสมุดมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการเป็นประจำทุกเดือน  ต่อมาที่ประชุมอธิการบดีอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่ง ในการดำเนินการจัดการสัมมนาเรื่อง "ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย" ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน เมื่อวันที่ 16-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยมีสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งนี้ ทำให้เกิดคณะอนุกรรมการกลุ่ม รวม 5 กลุ่ม คือ

               1. กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด

               2. กลุ่มงานวิเคราะห์เลขหมู่และทำบัตรรายการ

               3. กลุ่มงานบริการ

               4. กลุ่มงานวารสารและเอกสาร

               5. กลุ่มงานโสตทัศนศึกษา

              ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มผู้บริหารห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้น แผนงานความร่วมมือของคณะอนุกรรมการกลุ่มวารสารและเอกสาร บรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ในระยะแรก มีวัตถุประสงค์ดังนี้

              1. เพื่อร่วมมือปฏิบัติงานและขจัดปัญหาในด้านการจัดหา สั่งซื้อและแลกเปลี่ยนวารสาร/เอกสาร

              2. เพื่อร่วมมือจัดทำโครงการดรรชนีวารสารและหนังสือพิมพ์ ประกอบด้วยงานผลิตเอกสารอ้างอิง ซึ่งเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างห้องสมุด และคู่มือในการช่วยค้นคว้า วิจัย ทั้งในรูปแบบดรรชนี และรูปเล่มหนังสือ

              3. เพื่อร่วมมือประสานงานด้านวารสาร/เอกสาร/หนังสือพิมพ์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งแก่สังคมภายในองค์กรและสังคมภายนอก เช่น บริการช่วยการค้นคว้า บริการยืมระหว่างห้องสมุด เป็นต้น


              นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มวารสารและเอกสารได้มีการเลือกตั้งคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่บริหารการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วยตำแหน่ง ประธาน รองประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ และเหรัญญิก กำหนดให้ดำรงตำแหน่งวาระ 2 ปี ซึ่งนางสาวอุทัย  ทุติยะโพธิ ผู้อำนวยการกองห้องสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล (ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2522) เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการคนแรก และนางผ่องพันธ์  รัตนภูษิต ผู้แทนสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ คนแรก


              คณะอนุกรรมการฯ ได้ยึดมั่นในแนวปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือมาโดยตลอด จากห้องสมุดที่เข้าร่วมในโครงการระยะแรก 13 แห่ง เพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็น 23 แห่ง 2 วิทยาเขต (ในปี 2553 ห้องสมุดที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 24 แห่ง 4 วิทยาเขต)  และจากคำสั่งที่ 4/2534 ของคณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (กลุ่มผู้บริหารห้องสมุดเดิม) ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลุ่มต่างๆ เป็นคณะทำงานเพื่อความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ดังนี้

              1. คณะทำงานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ

              2. คณะทำงานฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารนิเทศ

              3. คณะทำงานฝ่ายบริการสารนิเทศ

              4. คณะทำงานฝ่ายวารสารและเอกสาร

              5. คณะทำงานฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา

              6. คณะทำงานฝ่ายเทคโนโลยีสารนิเทศ

              รวมเป็น 6 คณะทำงาน โดยมีการกำหนดแนวทางการจัดตั้ง องค์ประกอบ หน้าที่ความรับผิดชอบและวิธีดำเนินการอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร


             คณะทำงานฝ่ายวารสารและเอกสารมีหน้าที่ :-

             1. กำหนดแนวทางในการจัดหาและการใช้วารสารและเอกสารร่วมกัน

             2. จัดทำและเผยแพร่คู่มือปฏิบัติงานวารสารและเอกสารให้เป็นมาตรฐาน

             3. จัดทำและเผยแพร่คู่มือที่ใช้ประโยชน์ในงานวารสารและเอกสาร

             4. ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านวารสารและเอกสาร


            การดำเนินงานของคณะทำงาน :-

            1. มีการกำหนดแผนงานประจำปี โครงการท่ี่จะดำเนินการในแต่ละปี เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา และจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ทุกปี ติดตามรายละเอียดได้จากเอกสารการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2525) - ครั้งที่ 17 (พ.ศ. 2542)

            2. มีกำหนดวันประชุมประจำปี อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และไม่เกิน 12 ครั้ง

            3. มีการจัดส่งรายงานการประชุมแก่ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา และเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ทุกครั้ง

            4. การออกหนังสือติดต่อของคณะทำงาน ให้ผู้บังคับบัญชาของประธานคณะทำงานเป็นผู้้ลงนาม


           บนเส้นทางคณะอนุกรรมการฯ สู่คณะทำงานเพื่อความร่วมมือ จึงเป็นลักษณะการขยายความร่วมมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังความสามารถและศักยภาพของหน่วยงาน จนเป็นข่ายงานความร่วมมือทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเช่นทุกวันนี้

 

(ที่มา: เบญจา  รุ่งเรืองศิลป์. สองทศวรรษแห่งความร่วมมือ. ใน  การสัมมนาเรื่องลิขสิทธิ์ในงานห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543) : หน้า 157-160.

 

 

 

png5