ความเป็นมา

โครงการเผยแพร่การ์ตูนไทย

การ์ตูนไทยนับเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสร้างความบันเทิงจนครองใจผู้คนมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยเริ่มรู้จักการ์ตูนกันจริงจังก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แปลคำว่า Comic เป็นภาษาไทยว่า "ภาพล้อ" เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ มีการเขียนการ์ตูนเป็นภาพล้อ ภาพประกอบข่าว แต่ยังไม่ใช่หนังสือการ์ตูนทั้งเล่มโดยเฉพาะ ภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก มีนักเขียนภาพล้อการเมืองคนแรกของไทยเกิดขึ้นในยุคนี้คือ เปล่ง ไตรปิ่น ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานตำแหน่งเป็น ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต

นับจากนั้นมีการนำนิยายและเรื่องอ่านเล่นมาถ่ายทอดเป็นนิยายภาพ โดยฝีมือของจิตรกรและศิลปินนักวาดภาพประกอบและการ์ตูนหลายท่านเช่น เหม เวชกร เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน เฉลิม วุฒิโฆสิต รวมทั้ง "วิตตมิน" (วิตต์ สุทธเสถียร) และ "กันสเตอร์" (สเตอร์ กัณหดุล) ซึ่งปยุต เงากระจ่าง ยกย่องให้ "กันสเตอร์" เป็นนักเขียนการ์ตูนขำขันคนแรกของไทย ขณะที่ประยูร จรรยาวงษ์ ได้รับการยกย่องเป็น "ราชาการ์ตูนไทย" นอกจากนิยายภาพแล้วการ์ตูนสำหรับเด็กที่โด่งดังในยุคนั้นได้แก่การ์ตูนตุ๊กตา ของพิมน กาฬสี การ์ตูนหนูจ๋า โดยจำนูญ เล็กสมทิศ การ์ตูนเบบี้ ของวัฒนา เพช็ร์สุวรรณ และมีการ์ตูนขายหัวเราะและการ์ตูนมหาสนุก ที่ออกวางจำหน่ายต่อ ๆ มา จากนั้นการ์ตูนและนิยายภาพไทยแบบดั้งเดิมเริ่มปรับตัวไปเป็นการ์ตูนเล่มละบาท

ปี ๒๕๒๐ เป็นต้นมาการ์ตูนแปลจากญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในไทยเป็นอย่างมากจนสามารถครองตลาดการ์ตูนในไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีการนำการ์ตูนญี่ปุ่นมาแปลเป็นไทยทั้งในแบบพ็อคเก็ตบุ๊ค และนิตยสารรายสัปดาห์และรายปักษ์ นักเขียนการ์ตูนไทยต้องปรับตัวสร้างสรรค์ผลงานผ่านนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่น จนกระทั่งการ์ตูนไทยกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ ใน ปัจจุบันมีนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากมายซึ่งสร้างสรรค์งานการ์ตูนที่แสดงออกถึงตัวตนของตัวเอง ไม่มีกรอบหรือการกำหนดเนื้อหาของเรื่องตามแนวทางของการ์ตูนกระแสหลักทั่วไป

หนังสือการ์ตูนนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของหลาย ๆ คน ทั้งยังเป็นวรรณกรรมที่สร้างเสริมจินตนาการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งนักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่ก็มักจะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านมาก่อน แต่ปัจจุบันการ์ตูนที่ได้รับความนิยมจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น และการ์ตูนอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีลักษณะความเหนือจริง และพัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรียกว่า มังงะ (Manga) มีเนื้อหาที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงง่าย และมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ สำหรับการ์ตูนไทยถึงแม้ว่ารูปแบบลายเส้นจะหยิบยืมกันข้ามวัฒนธรรมได้ แต่เนื้อหาการนำเสนอหรือเอกลักษณ์ไทยในด้านอื่น ๆ ก็ยังจำเป็นสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนการ์ตูนไทยหน้าใหม่อยู่นั่นเอง จุดที่การ์ตูนต่างประเทศเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยนี้เอง ที่เป็นเหตุก่อร่างสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักอ่านนักเขียนหน้าใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากแหล่งการเรียนรู้ทรัพยากรสารสนเทศการ์ตูนไทยมีอยู่ในวงจำกัด หากการเรียนรู้เพื่อจะนำไปต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ของตัวเองก็ย่อมส่งผลถึงเอกลักษณ์ของเนื้อหาการนำเสนอที่ไม่ได้สื่อถึงความเป็นไทย ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนำเนื้อหาในวรรณคดี วรรณกรรมไทยมาเกี่ยวโยงเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารเรื่องราวให้พัฒนาไปตามยุคสมัย เหตุนี้เองย่อมส่งผลถึงวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยในอนาคตทั้งในด้านค่าตอบแทนของนักเขียน ขอบเขตงานต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

หอสมุดสาขาวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ร่วมกับภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาข้างต้น หากกลุ่มคนไทยไม่รู้รากเหง้าของตัวเองแล้ว ยากนักที่จะสามารถนำแก่นแกนความเป็นไทยนี้ไปต่อยอดการสร้างสรรค์ได้ โครงการการเผยแพร่การ์ตูนไทยจึงเกิดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติและผลงานนักเขียนการ์ตูนไทยที่มีชื่อเสียงจากยุคแรกถึงยุคปัจจุบัน หนังสือการ์ตูนไทยที่มีคุณค่า หายากมาจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จัดทำเป็นฐานข้อมูลการ์ตูนไทยเผยแพร่ เพื่อการเข้าถึงที่ไม่จำกัดเวลาและสถานที่รวมถึงเพื่อให้ผลงานต่าง ๆ ที่แสดงถึงเทคนิคการวาด กระบวนการคิดของการออกแบบเป็นแนวทางที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของตัวเองโดยมีผลงานจากนักเขียนในยุคต่าง ๆ เป็นแรงบันดาลใจต่อไป