ประวัติและที่ตั้ง

ที่ตั้ง
ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

 

                         grand palace clip image002   grand palace clip image003

                                                                                                                                                ที่มา : เว็บไซต์หอมรดก

ประวัติ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักกรี ในปี พ.ศ.2325 ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนบริเวณที่ตั้งพระราชวังในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีสาเหตุ 3 ประการ คือ

1. ลักษณะภูมิประเทศของพระราชวังในสมัยธนบุรี ตั้งอยู่ระหว่างวัดอรุณราชวราราม และวัดท้ายตลาด การขยายพระราชวังจึงมิอาจทำได้
2. บริเวณที่ตั้งของพระราชวังอยู่ตรงคุ้งน้ำพอดี ทำให้สายน้ำพุ่งเลาะตลิ่งเข้ามาได้ตลอดเวลา จึงไม่เป็นการปลอดภัยต่อที่ตั้งของพระราชวัง
3. การก่อสร้างพระราชวังธนบุรีมีสายน้ำผ่านกลาง เพราะหากเกิดสงครามทำให้การป้องกันพระนครทำได้ยาก

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) และ พระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางสำหรับพระนครใหม่ ในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นชุมชนชาวจีน และบ้านพระยาราชาเศรษฐีมีเนื้อที่ 132 ไร่ ถึงรัชกาลที่ 2 ทรงขยายออกไปอีก 20 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันจึงมีเนื้อที่ทั้งหมด 152 ไร่ 2 งาน มีกำแพงล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านเหนือยาว 410 เมตร ด้านตะวันออกยาว 510 เมตร ด้านตะวันตกยาว 630 เมตร ด้านใต้ยาว 360 เมตร

เมื่อพิจารณาตามตำราพิชัยสงครามพบว่า บริเวณที่ตั้งของพระบรมหาราชวัง มีลักษณะถูกต้องตามตำราพิชัยสงครามแบบที่เรียกว่า “ นาคนาม” ทั้งนี้วิเคราะห์จากแผนผังการสร้างพระราชวังที่พระองค์ทรงโปรดฯให้มีการขุดคูคลองต่างๆ สร้างป้อมปราการ การวางตำแหน่งที่ตั้งของวังหลวง วังหน้า วังหลังและวังของพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ไว้ตามจุด ยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ วังหลวงอันเป็นวังที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางค่ายหลวงของทัพ กรมพระราชวังสถานมงคลเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช เปรียบเสมือนเป็นค่ายด้านหน้า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ที่ประทับของพระราชวังบวรสถานพิมุขเป็นค่ายหลวงด้านหลัง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางกอกน้อยเยื้องกับพระบรมหาราชวังทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีวังอื่นๆที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นให้สัมพันธ์กับการป้องกันพระนคร

เดิมเรียกกันเป็นทางราชการว่า “ พระมหาราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน โปรดให้แก้ไขประเพณีบางอย่างเกี่ยวกับพระราชวังหลวงและวังหน้า การเรียกขานนามพระราชวังทั้งสองจึงเปลี่ยนไปด้วย พระราชวังหลวงเรียกว่า “ พระบรมมหาราชวัง” และคงเรียกกันมาจนปัจจุบันนี้

การสร้างพระบรมมหาราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามรักษาแบบแผนเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นเป็นพระอารามในพระราชฐานอีกด้วย ภายในพระบรมมหาราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ

     1. เขตพระราชฐานชั้นนอก
     2. เขตพระราชฐานชั้นกลาง
     3. เขตพระราชฐานชั้นใน

โดยพระราชฐานแต่ละชั้นนั้นมีกำแพงกั้นกำหนดเขต ในปัจจุบันพื้นที่ตอนเหนือด้านหน้านั้น ด้านตะวันออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านตะวันตกเป็นอาคารสถานที่ราชการ พื้นที่ตอนกลางเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน

เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ทำการของสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และหน่วยงานต่างๆรวมทั้งทหารรักษาวังด้วย บริเวณนี้จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รวมถึงบริเวณนอกรั้วกำแพงชั้นในของพระบรมมหาราชวัง

เขตพระราชฐานชั้นกลาง คือ บริเวณส่วนกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของหมู่ปราสาท พระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่เสด็จออกว่าราชการ ทั้งยังใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆ
เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรี ตลอดจนข้าราชบริพารที่เป็นหญิงเรียกโดยทั่วไปว่า “ ฝ่ายใน”

ภายในพระบรมมหาราชวัง นอกจากประสาทราชมณเฑียรที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิรินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างแล้ว พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นอีกบ้าง ทรงบูรณะแปลงของเดิมบ้าง และบางครั้งก็ต้องรื้อถอนของเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมไม่อาจบูรณะได้ โดยในปัจจุบันประกอบด้วยหมู่พระราชมณเฑียรต่างๆดังนี้

grand palace clip image004

ที่ตั้งอาคารที่สำคัญภายในพระมหาราชวัง
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุง รัตนโกสินทร์และจากการวิเคราะห์

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com