ชุมชนปากคลองตลาด

ชุมชนปากคลองตลาด           ชุมชนปากคลองตลาด

ที่ตั้ง
ปากคลองตลาดเป็นแหล่งค้าขาย ตั้งอยู่ใกล้สะพานพุทธ ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในอดีตเคยเป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่สำคัญ จวบจนความสำคัญของแม่น้ำลดลง ประชาชนหันมาสัญจรทางบกมากขึ้น ตลาดปากคลองจึงขยายตัว จากการค้าริมน้ำและการค้าขายทางเรือขยายออกมาค้าขายริมถนนด้านนอกมากยิ่งขึ้น

ประวัติ
ในสมัยหนึ่งเคยเป็นตลาดปลามาก่อน เป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุด มีเรือบรรทุกปลาทะเลมาจากท่าจีน (สมุทรสาคร) บรรทุกเรือแจวมาทางปากคลองบางกอกใหญ่ มาขึ้นที่ปากคลองตลาด ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการประกาศยกเลิกตลาดปลาแห่งนี้ให้ไปรวมอยู่ที่ตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพงในปัจจุบัน) นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ซึ่งเป็นตลาดปากคลอง ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนกลางมาก่อน หลังจากโรงเรียนได้ถูกรื้อลงจึงมีการสร้างอาคารขึ้น แต่ทว่าก่อนหน้าที่จะมีการสร้างตึกในบริเวณปากคลองตลาดนี้ ภาพของการค้าขายบริเวณปากคลองได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยในสมัยเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ปากคลองตลาดเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าของตนริมน้ำ ประกอบกับพ่อค้าแม้ค้าจากที่อื่นพายเรือมาชุมนุมกันในบริเวณนี้ กลายเป็นตลาดน้ำย่อมๆ ส่วนมากเป็นเรือที่มาจากสวนแถบบางกรวย นนทบุรี พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาชุมนุมค้าขายดังกล่าวนั้นจะไม่อาศัยท่าปากคลองเป็นที่ทำการซื้อขายถาวร หากแต่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างปากคลองตลาดกับท่าเตียน กล่าวคือ พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาจากสวนต่างๆทางฝั่งธนบุรีจะอาศัยท่าเตียนบ้าง ท่าปากคลองตลาดบ้างเป็นที่ชุมนุมซื้อขายสินค้า ในอดีตสมัยที่ผู้คนนิยมเดินทางและค้าขายทางเรือบริเวณท่าเตียนและท่าปากคลองตลาดดังกล่าวจึงเป็นแหล่งชุมนุมของเรือสินค้า เรือแจว รวมทั้งเรือนแพของประชาชน

อาจสันนิษฐานได้ว่าเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ตลาดใหญ่ที่มีพ่อค้าแม่ค้าไปชุมนุมกันมากนั้นจะอยู่ที่ท่าเตียน ส่วนตลาดปากคลองนี้มีพ่อค้าแม่ค้ามาค้าขายในจำนวนไม่มากนัก ตลาดปากคลองจะเริ่มคึกคักขึ้นหลังจากที่มีการรื้อโรงเรียนสอนภาษาจีนกลางเพื่อสร้างตลาด โดยจะมีเรือมาส่งสินค้าที่ตลาดปากคลองทุกเช้ามืด รวมทั้งเรือชาวบ้านที่เป็นเรือแจว เรือพาย โดยตลาดปากคลองดั้งเดิมนั้นมีพื้นที่จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณท่าเรือปากคลอง ไม่ได้ขยายพื้นที่ไปจนถึงสะพานพุทธดังเช่นในปัจจุบัน และตลาดยังหนาแน่นอยู่ในบริเวณริมน้ำด้านใน ไม่ได้ขยายมาจนถึงริมถนน โดยปากคลองตลาดในสมัยก่อนนั้นไม่มีตลาดอยู่บริเวณริมถนนเลย รถยนต์ก็มีจำนวนน้อยแตกต่างจากสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ของปากคลองในสมัยก่อนจะนิยมโดยสารรถราง ที่วิ่งผ่านปากคลองตลาดไปสิ้นสุดที่หัวลำโพงด้วยค่าโดยสารเพียงหนึ่งสลึง นอกจากนี้บริเวณปากคลองตลาดตลาดในสมัยเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้วนั้นจะมีแม่ค้าหาบเร่เดินขายขนมถาด ต่อมาก็มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายดอกไม้เริ่มขยับขยายพื้นที่ค้าขายของตนออกมาด้านนอกริมถนนมากขึ้น และก่อนที่ตลาดใหญ่จะย้ายไปอยู่ที่ปากคลองตลาดนั้น ผู้คนจะชอบวางของขายอยู่ตรงริมกำแพงวัดโพธิ์ พอนานเข้ามีคนนำสินค้ามาขายมากขึ้นจนไม่มีที่สำหรับให้รถยนต์วิ่ง ทางการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงบังคับให้ย้ายตลาดไปที่ปากคลองตลาด เนื่องจากความไม่เป็นระเบียบทำให้เสียทัศนียภาพของพระอารามหลวง พร้อมกับย้ายตลาดสดกรมภูธเรศน์ ซึ่งเป็นตลาดปากคลองดั้งเดิม พ่อค้าแม่ค้ามักจะเรียกกันว่า “ ตลาดเก่า” มารวมไว้ด้วยกันหลังจากนั้น ตลาดปากคลองยิ่งทวีความเจริญและคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ มีการสร้างตึกเพื่อทำเป็นตลาดเพิ่มที่เชิงสะพานพุทธ เรียกว่า “ ตลาดยอดพิมาน” และต่อมาจึงมีตลาดที่ฝั่งถนนตรงข้ามเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ปากคลองตลาดเป็นตลาดค้าผัก ผลไม้ ไม้ดอกแหล่งใหญ่ของกรุงเทพฯ และรวมตลาดสามตลาดไว้ด้วยกัน คือ ตลาดองค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลาดยอดพิมาน และตลาดส่งเสริมเกษตรกรไทย รวมทั้งจากการที่เรือสินค้าที่แต่เดิมขึ้นที่ท่าเตียน ก็กลับมาขึ้นที่ท่าปากคลองตลาด ทำให้ตลาดปากคลองยิ่งเฟื่องฟูและคึกคัก ซึ่งในปัจจุบันชาวกรุงเทพฯรู้จักปากคลองในฐานะตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุด

ปากคลองตลาดในปัจจุบันประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 4 ชั้น 1 หลัง ,อาคารที่พักอาศัย 3 ชั้น 1 หลัง ,อาคารสำนักงานเดิม 2 ชั้น 1 หลัง ,อาคารตลาด 14 หลัง และมีแผงตลาดหรือสถานที่ให้เช่าประกอบการค้า จำนวน1,443 แผงโดยมีการจัดเป็นหมวดหมู่ตามประเภทสินค้า ซึ่งมีผู้เช่าประกอบการค้า 665 ราย นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนถ่ายสินค้า 3 ท่า รวมทั้งมีถนนและลานจอดรถภายในตลาด มีหน่วยบริการขนส่งสินค้าภายใน(ปฏิบัติงานด้วยรถเข็น) และมีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

ปากคลองตลาดและองค์การตลาด
ในปัจจุบัน ปากคลองตลาดเป็นที่ตั้งขององค์การตลาด ซึ่งที่มาของงองค์การนี้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณพระอารามหลวงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระอารามเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศจำนวนมาก แต่สภาพแวดล้อมโดยรอบสกปรกไม่เป็นระเบียบ มีสภาพคล้ายแหล่งสลัม ทั้งนี้เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าปลูกเพิงพักอาศัยและวางสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดขายเป็นประจำถาวร เกิดปัญหาแก่วัดประชาชนและทางราชการเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าหากทางราชการจะขับไล่พ่อค้าแม่ค้าและครอบครัวจะเดือดร้อนไม่มีที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ รัฐบาลจึงแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งองค์การตลาดขึ้นที่บริเวณปากคลองตลาด ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งเหมาะสมมีการคมนาคมสะดวกทั้งทางน้ำและทางบก เพื่อจัดตั้งตลาดกลางผักและผลไม้ขึ้นรองรับ และเพื่อความสมบูรณ์ได้ย้ายผู้ค้าส่งตลาดผักสดกรมภูธเรศน์(ตลาดเก่าเยาวราช) ให้มารวมกันอยู่บริเวณปากคลองตลาดเป็นแห่งเดียวกัน

องค์การตลาดได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2496 โดย "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ. 2496" สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ต่อมารัฐบาลเห็นว่ากรมประชาสงเคราะห์ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดได้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ. ศ.2501 จึงโอนองค์การตลาดสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพราะได้เล็งเห็นว่ากรมการค้าภายในมีหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจพาณิชย์สามารถที่จะควบคุมงานขององค์การตลาดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งได้

ระยะ 4 ปีที่องค์การตลาด สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กิจการไม่เจริญก้าวหน้าตามที่คาดหมายไว้ รัฐบาลโดย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ นายกรัฐมนตรี ได้บัญชาให้โอนองค์การตลาดสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2505 เป็นต้นมา

องค์การตลาดเป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยใช้งบประมาณจากเงินทุนหมุนเวียนขององค์การตลาดและนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิประจำปีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ปากคลองตลาดกับความสำคัญในอดีต
ตลาดน้ำในอดีตคงมีมากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลาง เนื่องจากภูมิประเทศอุดมด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย ทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และที่ขุดขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งและขยายพื้นที่เพาะปลูก ย่านชุมชนจึงมักอาศัยอยู่ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ ตลาดน้ำก็น่าจะอยู่คู่กับชุมชน เหล่านั้นด้วย และปากคลองตลาดซึ่งอยู่ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการขุด คลองในทุกรัชกาล ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการคมนาคมและการป้องกันบ้านเมือง หรือเพื่อการยุทธศาสตร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก็มีการขุดคลองเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย เพื่อให้การคมนาคมขนส่งสินค้าเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วทั่วถึง รวมทั้งเพื่อ เปิดพื้นที่การเพาะปลูกในบริเวณที่คลองขุดไปถึงด้วย ขณะเดียวกันเมืองหรือชุมชนก็ขยายตัวตามไปด้วย จึงทำให้เกิดตลาดน้ำสำคัญหลายแห่ง ตลาดน้ำที่สำคัญแห่งแรกน่าจะเป็น ปากคลองตลาด ซึ่งอยู่ระหว่างป้อมจักรเพชร และป้อมผีเสื้อ แม้ว่าในระยะแรกเป็นเพียงตลาดเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น ตลาดที่เคยเป็นตลาดน้ำมาก่อนก็กลายเป็นตลาดบก และเป็นตลาดขายส่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญมากจน ถึงปัจจุบัน

community-tatien3 community1902
สภาพการค้าขายย่านปากคลองก่อนการจัดระเบียบ

อาชีพของชาวปากคลองตลาด
ในปัจจุบันชาวปากคลองตลาดมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก โดยสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น คือ ดอกไม้และผัก ผลไม้ คนที่เคยค้าขายมายาวนานก็ทำการค้าขายต่อไป ส่วนรุ่นลูกรุ่นหลานหันเหไปประกอบอาชีพในภาคราชการและบริษัทเอกชนบ้าง ทุกวันของปากคลองตลาดนับตั้งแต่เวลากลางวันถึงเวลาดึกไม่เคยหยุดนิ่ง มักจะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายดอกไม้ปลีก ร้อยพวงมาลัยขาย หรืออาจจะเปิดร้านดอกไม้รับจัดดอกไม้เป็นช่อ ต่างก็ต้องเดินทางมาซื้อดอกไม้ในราคาส่งจากตลาดปากคลอง ดอกไม้จากแหล่งปลูกทั่วประเทศล้วนถูกส่งมารวมกันที่ปากคลองทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่พ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้จะสามารถเลือกหาดอกไม้สวยและสดเพื่อไปบริการลูกค้าของตนอีกทีหนึ่ง ตลาดปากคลองยังเป็นศูนย์รวมของผักและผลไม้สดที่มาจากสวน ผลผลิตของเกษตรกรในประเทศส่วนหนึ่งถูกส่งมาที่ปากคลองตลาด เนื่องมาจากตลาดปากคลองทีท่าเรือขนถ่ายสินค้า ดังนั้นสินค้าจากทั่วประเทศจึงถูกส่งขึ้นที่ตลาดปากคลองนี้ทั้งสิ้น 

community-tatien1 community-tatien2 community-tatien4

แม้เป็นย่านการค้าที่เกิดหลังย่านท่าเตียนก็ตามนับเป็นการค้าที่ใหญ่และคึกคักเช่นกัน ปากคลองตลาดเป็นตลาดกลางขายส่งผักผลไม้และดอกไม้ เปิดขายของกันตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เป็นตลาดกลางที่ขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ท่านจะเห็นชาวสวนนำดอกไม้จากสวนมาขายเท่านั้น ยังได้เห็นช่างฝีมือร้อยมาลัยประดิษฐ์ดอกไม้ตามแบบไทยวางขายกันดาษดื่น ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องการดอกไม้ใช้งาน ตกแต่งบ้านงานบุญต่างๆ งานบวช งานรับปริญญา งานต้อนรับ งานแต่งงาน จนถึงงานศพ สามารถไปซื้อกันได้ ผู้ประดิษฐ์ก็นั่งทำอย่างขะมักเขม้น ผู้ขายก็หยิบขายอย่างพัลวัน เป็นภาพชีวิตที่ดูคึกคักน่าสนใจยิ่งนัก

จากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ทำให้อาชีพหลักของชาวปากคลองตลาดคือการค้าขายดอกไม้ ผักและผลไม้สด ซึ่งถ้าลูกค้าคนใดต้องการผลผลิตสดๆ ใหม่ๆ ของเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ส่งตรงจากแหล่งผลิตทุกวัน ก็สามารถมาหาซื้อได้ที่ปากคลองตลาดแห่งนี้

ในปี 2559 กรุงเทพมหานครได้ประกาศจัดระเบียบพื้นที่รุกล้ำบนทางเท้า ทางสาธารณะหลายจุดส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าบริเวณปากคลองตลาดที่วางขายบนทางเท้าได้รับผลกระทบให้ไม่สามารถวางขายได้ต่อไปอีก เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป โดยกรุงเทพมหานครได้จัดพื้นที่รองรับไว้บริเวณตลาดใกล้เคียง เช่น ตลาดยอดพิมาน

สถาปัตยกรรมที่สำคัญ
สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของชุมชนปากคลองตลาดเป็นอาคารพาณิชย์ บางหลังสร้างด้วยปูนแบบสมัยใหม่ ส่วนอาคารบางหลังเป็นอาคารไม้แบบสมัยเก่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วบ้านเรือนของชาวชุมชนปากคลองตลาดเป็นอาคารพาณิชย์ที่ทำจากปูน เป็นรูปแบบของตึกสมัยใหม่ สันนิษฐานว่าในอดีตบ้านเรือนในชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นอาคารไม้ทั้งหมด เนื่องมาจากผู้คนในสมัยก่อนไม่นิยมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยปูน ด้วยเหตุที่ไม่คุ้นเคยและความคิดที่ว่าสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยปูนนั้นมีเพียงวัดและวังเท่านั้น ถ้าราษฎรอาศัยอยู่บ้านที่เป็นตึกก็จะเป็นการเกินศักดิ์ของตนเกินไป แต่ปัจจุบันนี้ค่านิยมดังกล่าวได้หมดไป บ้านเรือนของประชาชนในชุมชนปากคลอตลาดจึงเต็มไปด้วยตึกและอาคารที่ก่อสร้างด้วยปูน

หมายเหตุ
เบญจรัชต์ เมืองไทย. "ลัดเลาะคูเมือง สานตำนานไพร่ จดจารึหน้าสุดท้าย เกาะ รัตนโกสินทร์ ." นิตยสาร HI-CLASS MAGAZINE ปีที่ 11 ฉบับที่ 133 (พ.ค. 2538)

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com