วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ที่ตั้ง
146 ถนนตีทอง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนบำรุงเมือง
ทิศใต้ จรด ตึกแถวพระคลังข้างที่
ทิศตะวันออก จรด ถนนอุณากรรณ
ทิศตะวันตก จรด ถนนตีทอง

ประวัติ
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนตีทองและถนนบำรุงเมืองหน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรัสให้สร้างขึ้น (ประมาณ พ.ศ. 2350-2351) เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วง ครั้นเวลาผ่านไปพระวิหารหลวงของวัดก็หักพังลงทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ต้องตากแดดกรำฝน จนกระทั่งมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปพบเข้าก็ทรงมีพระดำรัสให้อัญเชิญเข้ามายังพระวิหารของวัดสุทัศน์ ฯ ในพระนคร แต่เมื่ออัญเชิญเข้ามาแล้วพระวิหารในวัดนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง

ต่อมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงโปรดให้สร้างต่อไปและแสดงฝีพระหัตถ์ไว้เป็นอนุสรณ์โดยทรงสร้างบานประตูกลางจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์ร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี ของตัวพระวิหารแห่งนี้ด้วย (ปัจจุบันบานประตูนี้ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์) แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้วทรงโปรดให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ กับโปรดให้สร้างสัตตมหาสถานและสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ไปจำวัดตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 โปรดให้มีการซ่อมแซมพระวิหารพระศรีศากยมุนีและซ่อมพระอุโบสถเพิ่มเติม

ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

สถาปัตยกรรมที่สำคัญ

พระอุโบสถ
มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ตัวพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน กว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 หน้ามุขกระสันกว้าง 14.00 เมตร ยาว 10.40 เมตร สร้างอยู่บนฐานไพทีชั้นที่ 2 มีเฉลียงรอบทั้ง 4 ด้าน มีเสาพระอุโบสถมีทั้งหมด 62 ต้น เสาแต่ละต้นมีลักษณะ 4 เหลี่ยมเท่ากัน ปิดทองล่องชาดลายดอกไม้ ซุ้มประตูหน้าต่างทรงบัวเจิมยอดแหลมคล้ายทรงมงกุฎ ปิดทองประดับกระจกฐานพระอุโบสถ ประกอบด้วยกระดานฐานสิงห์คั่นปัดลูกแก้ว ไม่มีลวดลายระหว่างโคนเสาเฉลียงด้านนอกมีผนังก่ออิฐ คั่นเป็นห้อง ๆ สูง 1.22 เมตร ด้านในเจาะคูหาเล็ก ๆ สำหรับใส่ตะเกียงบูชา เพื่อบูชาประทีปในงานนักขัตฤกษ์สมัยโบราณห้องละ 5 คูหาหลังคาอุโบสถมีลักษณะเป็นทรงไทยโบราณ 4 ชั้น 3 ลด มีมุขกระสันหน้าหลังมุงกระเบื้องเคลือบสามสี ประกอบด้วยช่อฟ้ากระจกมุขหน้า 4 ตัว รวม 8 ตัว หางหงส์ 64 ตัว ไม่มีคันทวย หน้าบันด้านทิศตะวันออกมีภาพพระอาทิตย์เทพเจ้าให้แสงสว่าง มีผิวกายแดง หน้าบันด้านทิศตะวันตกมีภาพพระจันทร์มีผิวกายขาว พื้นลายหน้าบันทั้งสองข้างมีลายกรอบคั่นกลางเหมือนลายพระอาทิตย์ พระจันทร์และลายใบเทศหางโตประดับดัวยกระจกสีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีเหลือง สีเขียวสลับกัน ซุ้มเสมา ชั้นล่างเป็นฐานหน้ากระดานมีดอกบัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ใส่ลูกฟักหินดุนที่สลักลายดอกกลาง ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายและหน้ากระดานเป็นบัวท้องปลิง ชั้นกลางซุ้มเป็นที่ประดิษฐานใบเสมาหินอ่อนสีขาวเทา ชั้นปลายเป็นลายดอกไม้ทรงโค้ง ประดุจกระจังหน้านาง ด้านบนเป็นบัวหงายกลีบซ้อน ข้างบนมียอดปล้อง ๆ เรียวเล็กตามลำดับดุจปล้องไฉน 5 ปล้อง ปล้องที่ 6 เป็นปลีบัวหงายคั่นด้วยลูกแก้วระหว่างปลีบัวหงาย ปลายยอดสุดเป็นหยาดน้ำค้าง

พระวิหาร
มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยถ่ายทอดมาจากพระวิหารมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวคือ พระวิหารมีขนาดกว้าง 23.84 เมตร ขนาดยาว 26.35 เมตร สร้างบนฐานไพทีชั้นที่ 2 ซึ่งก่ออิฐถือปูนมั่นคง ฐานไพทีประกอบด้วยกระดานฐานสิงห์บัวลูกแก้ว สูง 62 เซนติเมตร มีพนักสูง 85 เซนติเมตร ก่ออิฐกระเบื้องปรุตาโปร่งเคลือบสีเขียวพื้นฐานไพทีปูกระเบื้องดินเผาสีแดง 8 เหลี่ยม หลังคาพระวิหารเป็นทรงไทยโบราณ 2 ชั้นลด 1 มีเฉลียงซ้ายขวามุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหน้าและด้านหลังพระวิหารมีประตูเข้าสู่พระวิหารด้านละ 3 ประตู เป็นประตูสลักไม้ สร้างในรัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่าบานประตูพระวิหารของวัดสุทัศน์เป็นฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 นับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2

พระวิหารคตหรือพระระเบียง
สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ล้อมพระวิหารพระศรีศากยมุนีทั้งสี่ด้าน มีหลังคาเป็นทรงไทยโบราณกระเบื้องเคลือบพื้นสีเหลือง ขอบสีเขียวใบไม้ และมีช่อฟ้า หางหงส์ หน้าบันพระวิหารคตสลักภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีโคมกรอบลายคั่นพื้นลายทั้งหมด ประกอบด้วยลายใบเทศหางโตกนกเปลวและหางโตก้านขด สลักบนไม้แรเงาลวดลาย ปิดทองประดับกระจกทั้งหมด ใต้ลายหน้าบันลงมาประกอบด้วยกระจังฐานพระซึ่งประกอบด้วยกระจังใบเทศหน้ากระดาน บัวหงาย ลูกแก้ว และกระจังรวน ฯลฯ ความวิจิตรสวยงามของลวดลายหน้าบันนี้ยากที่จะหาหน้าบันวิหารคตใดมาเทียบได้
พระวิหารคดด้านในมีเสารายรับหลังคาเฉลียงลดเป็นห้อง ๆ เสาทุกต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีบัวท้องปลิง ท้องสะพานเหนือปลายเสาทาสีแดง ปิดทองฉลุลายดอกแก้วแกมกนกเกลียว เพดานทาสีแดงมีลายกรอบแว่นประดับดาวทองล้อมเดือนทุกห้อง ขื่อทาสีเขียวปิดทองประดับลายกรวยเชิง

ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช
เดิมใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตึกหลังใหญ่ชั้นเดียว

ศาลาวิหารทิศ
เป็นศาลาทรงไทย 4 หลัง อยู่บนพื้นไพทีรอบมุมพระวิหารทั้ง 4 ทิศ เป็นศาลาโถง ด้านสกัดและด้านหลังก่ออิฐถือปูนด้วยกระเบื้องปรุตาโปร่ง เครื่องบนทำด้วยไม้ทั้งหมด ใบระกา หางหงส์ เชิงชายทั้งหมดเป็นไม้สัก หน้าบันแกะสลักด้วยลายดอกไม้ ประดับด้วยกระจังฐานพระปิดทองประดับกระจก

ศาลาลอย
มี 4 แห่ง สร้างชิดแนวกำแพงด้านหน้าพระวิหารแถบเหนือที่เรียกกันว่า ศาลาลอย เพราะมีพื้นสูงตั้งอยู่เหนือกำแพงมองดูเด่นเป็นสง่า มีหลังคาเป็นทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสี ไม่มีช่อฟ้า หางหงส์ หน้าบันปั้นด้วยปูนลายดอกไม้ เสาทั้งหมดสี่เหลี่ยมมีบัวทองเปลวทาสีขาว โดยรอบเฉลียงไม่มีฝาเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน

หอระฆัง
สร้างอยู่ในเขตสังฆาวาส ก่อด้วยอิฐถือปูนลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐาน แต่พื้นดินขึ้นไปเป็นหน้ากระดานบัวคว่ำท่อนที่ 2 เป็นหน้ากระดานบัวหงาย ผนังคูหาแต่ละมุมก่ออิฐตัน สร้างเป็นซุ้มคูหา ด้านนอก ชั้นที่ 3 เจาะช่องเป็นคูหา 8 ช่องเพื่อให้แลเห็นระฆังที่แขวนหลังคา ก่ออิฐถือปูนทำเป็นทรงบัวตูมอ่อน

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
ดำเนิร เลขะกุล. มรดกทางปัญญา. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2546.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com