ชุมชนวัดเทพธิดาราม

ชุมชนวัดเทพธิดาราม

ที่ตั้ง 
ชุมชนวัดเทพธิดา ตั้งอยู่ในแขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อคลองเขื่อน
ทิศใต้ ติดกับซอยสำราญราษฎร์
ทิศตะวันออก ติดกับถนนมหาไชย
ทิศตะวันตก ติดศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ชุมชนวัดเทพธิดารามเป็นบ้านและที่ดินของเอกชน เจ้าของหลายท่านอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับมรดกตกทอดติดต่อกันมาเป็นช่วงๆ จนถึงลูกหลานและเหลน และมีบางรายให้ผู้อื่นเช่าที่ต่อ แต่ในบางรายก็ยังมีลูกหลานเจ้าของเดิมยังอาศัยอยู่ ส่วนทางด้านที่ติดกับกำแพงวัดเทพธิดารามนั้น ผู้อยู่อาศัยมีบ้านของตนเอง แต่ได้เช่าที่ของวัดอยู่เป็นเวลานานเช่นเดียวกัน

สภาพทั่วไป
ชุมชนนี้มีลักษณะบ้านเรือนเป็นห้องแถวอาคารไม้สองชั้น ปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาวขนานกับทางเท้าเดิม ทางเข้า-ออกของชุมชนนี้มี 2 ทาง คือ ทางด้านทิศเหนือ ซอยสำราญราษฎร์ และทางด้านทิศใต้ ติดกับถนนบำรุงเมือง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และมีบางส่วนที่รับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ 

ประเพณีและของดีของชุมชน

ชุมชนวัดเทพธิดารามเป็นที่ตั้งของวัดเทพธิดาราม ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชยใกล้วัดราชนัดดา หันหน้าออกสู่คลองรอบกรุง หรือกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกในสมัยก่อน เดิมชื่อวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง วัดนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อปี พ.ศ.2379 เสร็จในปี พ.ศ.2382 ได้รับพระราชทานนามวัดเทพธิดาราม ซึ่งคำว่า เทพธิดา หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามและทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา โดยกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมในการก่อสร้างวัดเทพธิดารามด้วย สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ตั้งอยู่ประจำทิศทั้งสี่ของมุมพระอุโบสถ ฐานพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาลและกุฏิบริเวณสังฆาวาสที่มีทรงแปลกไม่ซ้ำแบบกัน ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยส่วนใหญ่รูปแบบศิลปะจะเป็นแบบอย่างในรัชกาลที่ 3 เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุษบกที่รองรับพระประธานภายในโบสถ์ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม และที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ในส่วนของสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน กล่าวคือพระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ หน้าบันประดับเครื่องกระเบื้องจีนภายในมีพระพุทธเทววิลาศหรือหลวงพ่อขาว ประดิษฐานเป็นพระประธาน พระวิหารมีลักษณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีรูปหมู่อริยสาวิการ(ภิกษุณี) ที่ได้รับเอตทัคคะหล่อด้วยดีบุกประดิษฐาน 42 องค์ และในวัดมีตุ๊กตาจีนจำหลักทั้งรูปสัตว์และรูปคน ที่น่าสนใจ คือ บางตัวสลักเป็นรูปหญิงไทยไว้ผมปีกแบบโบราณนั่งอุ้มลูก ซึ่งเป็นเครื่องประดับพระอาราม

นอกจากนี้ระหว่าง พ.ศ. 2383-2385 วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุและได้เขียนบทกลอนเรื่องรำพันพิลาปขึ้น มีบทพรรณนาลักษณะปูชนียสถานปูชนียวัตถุของวัดอย่างละเอียด บรรยายถึงความงามของพระอารามไว้ และปัจจุบันกุฏิที่สุนทรภู่เคยอาศัยเรียกว่า " กุฏิสุนทรภู่" หรือ "บ้านกวี" ภายในกุฏิมีรูปหล่อครึ่งตัวของสุนทรภู่อยู่ภายในเป็นอนุสรณ์ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจเข้าชม

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com