ตึกแถวถนนตีทอง

ที่ตั้ง     
ถนนตีทอง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติความเป็นมา
นนตีทองนี้แต่เดิมเป็นชุมชนบ้านช่างทองคือบริเวณตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงถนนตีทอง ในอดีตเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวซึ่งเป็นทองคำแผ่นบางๆ ที่ใช้ในการปิดเคารพสักการบูชาพระพุทธรูป หรือสิ่งเคารพตามความเชื่อถือ นอกจากนี้ทองคำเปลวยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในงานศิลปะและงานช่างฝีมือต่าง ๆ ซึ่งชุมชนบ้านตีทองหรือถนนตีทองนี้เคยเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวที่มีชื่อเสียงมาแต่ในอดีต

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ระบุว่า “ ย่านเป่าทองขายทองคำเปลว ทองนากเงิน มีตลาดขายของสดเช้าเย็น “ ซึ่งเชื่อกันว่า ทองคำเปลวรวมถึงอาชีพผลิต และค้าทองคำเปลวนั้น คงเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างน้อยก็แต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปรากกฎชุมชนที่ผลิตและค้าทองคำเปลว บริเวณข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร บริเวณถนนตีทองในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่าชุมชนแห่งนี้ เป็นย่านที่พวกช่างทองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมกัน ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อราษฎรมีเสรีภาพในการทำทอง บรรดาช่างทองจึงได้พากันประกอบอาชีพช่างตีทองคำเปลวในย่านนี้เป็นแห่งแรก ซึ่งกลุ่มช่างทองหลวงจากในพระบรมมหาราชวังได้ออกมาตั้งชุมชนผลิตทองคำเปลว ขายให้แก่ชาวบ้านทั่วไปในบริเวณนี้ ถนนที่ตัดผ่านบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่าถนนตีทอง

ปัจจุบัน “ บ้านตีทอง “ เหลือปรากฏเป็นเพียงชื่อถนนตีทอง ไม่มีกิจกรรมใดเกี่ยวกับทองคำเปลวเหลืออยู่ แต่อาชีพการผลิตและค้าทองคำเปลวยังคงหลงเหลืออยู่ในย่านแถบอื่นที่เกิดขึ้นร่วมสมัยหรือในยุคหลังต่อมา เช่น บริเวณหลังวัดบวร บ้านพานถม ถนนพระสุเมรุ ถนนตะนาว

           teetong clip image002 0005    teetong clip image002 0006    teetong clip image002 0007

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

อาคารเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่ด้านข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร อาคารแต่ละคูหากว้างประมาณ 3.00 เมตร สูง 10.00 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ หน้าต่างเป็นบานแฝดไม้ลูกฟักกระดานดุน ด้านบนของหน้าต่างมีกันสาดยื่นออกมามุงด้วยสังกะสีและมีลายฉลุไม้โดยรอบ ส่วนบนของผนังมีลวดลายบัวหงายเป็นแนวยาวตลอดช่วงอาคารขึ้นไปรับชายหลังคา มีการประดับผนังด้วยแนวเสายื่นออกมาจากผนังมีการเซาะร่องตามแนวนอน  

รูปแบบอาคารตึกแถวถนนตีทองนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากอาคารตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง คืออาคารตึกแถวถนนตีทองนี้จะมีลักษณะอาคารที่เรียบง่าย มีการประดับตกแต่งลวดลายน้อย ไม่มีการปั้นปูนประดับตกแต่งอาคารตามสถาปัตยกรรมตะวันตกเหมือนอาคารตึกแถวอื่น ๆ ที่สร้างในยุคสมัยเดียวกัน สภาพอาคารปัจจุบันในชั้นล่างได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานไปมากทั้งประตูอาคารในชั้นล่างและการติดป้ายโฆษณาร้านค้าต่าง ๆ

   teetong clip image002 0001       teetong clip image002 0003  teetong clip image002 0000

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com