วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ที่ตั้ง
ถนนราชบพิธ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนราชบพิธ
ทิศใต้ จรด วัดราชบพิธ
ทิศตะวันออก จรด ถนนเฟื่องนคร
ทิศตะวันตก จรด ถนนอัษฎางค์

ประวัติ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่มหาสีมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ จึงได้นามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แปลว่าวัดซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างและเป็นวัดซึ่งมีมหาสีมาตั้งอยู่ การตั้งมหาสีมาในวัดเช่นนี้ก็เพื่อเฉลี่ยลาภผลแก่สงฆ์ผู้อยู่ในสีมาเดี่ยวกันโดยทั่วถึง และการกระทำสังฆกรรมในวัดอาจทำได้ในมหาสีมา เช่น การบวชพระ แม้จะไม่กระทำในพระอุโบสถอย่างวัดอื่น ๆ แต่กระทำในขอบเขตแห่งสีมาก็เป็นองค์พระได้ตามพระวินัยเมื่อได้รับการอนุมัติจากสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำพระองค์ตามโบราณราชประเพณีนิยม โดยทรงโปรดให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองอำนวยการสร้าง เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2412 พื้นที่รวมทั้งหมด 10 ไร่ 88 ตารางวา ลักษณะพิเศษของวัดคือไม่มีหอไตร เป็นวัดที่มีการจัดวางแผนผังอย่างงดงามและประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
พระอุโบสถ
รูปทรงภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาด้านหน้ามีมุขเด็จมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ติดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมุขเป็นรูปช้าง 7 เศียร เทิดพานทองรองรับใส่มงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรมีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ประตูหน้าต่างมีซุ้มยอดมณฑปครึ่งซีกติดลวดลายปูนปั้นปิดทอง บานประตู 10 บาน บานหน้าต่าง 28 บาน ด้านในเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นตราราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง เฉพาะที่บานประตูเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 5 นี้ มีสายสะพายล้อมวงกลมและสร้อยทับอยู่บนสายสะพายกับมีโบว์ห้อยดวงตราอีกชั้นหนึ่ง ลายประดับมุขที่บานประตูและหน้าต่างนี้ยกย่องว่าเป็นศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านข้างของซุ้มแต่ะด้านเป็นรูปเซี่ยวกางถือง้าวยืนอยู่บนหลังสิงห์ ด้านข้างของซุ้มหน้าต่างแต่ละด้านเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่กลางลายกนก ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลม และมีอักษร จ. สลับเหนือซุ้มกลางประตู ภายในปั้นเป็นรูปตราแผ่นดินประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 โดนจำลองแบบจากตรางาประจำพระองค์ การตกแต่งภายในพระอุโบสถและผนังชั้นบนระหว่างเสาคูหาเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนการให้สีภายในพระอุโบสถงดงามและปิดทองบางแห่ง

 wat-rachpopit2  wat-rachpopit3  wat-rachpopit7

พระวิหาร
พระวิหารมีรูปทรงแบบเดียวกับพระอุโบสถทั้งภายในและภายนอก แตกต่างกันตรงที่บานประตูและหน้าต่างสลักด้วยไม้เป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในขณะที่พระอุโบสถเป็นลายประดับมุข นอกจากนี้ลวดลายภายในพระวิหารจะมีเฉพาะที่เพดานบัวกั้นผนังชั้นล่างและชั้นบน และกรอบหน้าต่างเท่านั้น นอกนั้นผนังเป็นสีทองไม่มีลวดลาย ภายในพระวิหาร ผนังด้านบนทาสีชมพูเขียนลายดอกไม้ร่วง ตอนล่างทำเป็นอุณาโลมสลับกับอักษร จ บานหน้าต่างด้านในเป็นลายรน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ พระประธานป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่าพระประทีปวโรทัย

wat-rachpopit10 wat-rachpopit9 

พระเจดีย์
เป็นพระเจดีย์ทรงไทยย่อเหลี่ยมฐานคูหาประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางเป็นประธานของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดบนพื้นไพที ยอดปลีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 6,018 องค์ ลูกแก้วยอดปลีพระเจดีย์ทำด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบทอง เหนือฐานพระเจดีย์มีซุ้มโดยรอบ รวม 14 ซุ้ม นับตั้งแต่ซุ้มพระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และพระพุทธรูปเหนือซุ้ม มีชานและกำแพแก้วสำหรับเดินรอบเจดีย์ ตรงกลางองค์พระเจดีย์มีชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกสมัยลพบุรี 2 องค์ นอกจากนี้ผนังด้านในองค์พระเจดีย์มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดย่อม 6 องค์
 

wat-rachpopit5   wat-rachpopit1 wat-rachpopit6 

พระระเบียงหรือพระวิหารคต 
ผนังประดับกระเบื้องลายเบญจรงค์เชื่อมพระอุโบสถกับพระวิหารมุขและพระวิหารล้อมองค์พระเจดีย์ใหญ่ ด้านนอกมีทางเดินปูด้วยหินอ่อนและมีเสากลมรับกับเชิงชาย ส่วนด้านในเป็นพื้นสองชั้นมีเสาก่ออิฐถือปูนย่อเหลี่ยมรับเครื่องบนและเชิงชาย


วิหารทิศหรือวิหารมุข
อยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตรงกับพระเจดีย์ใหญ่เป็นทางเข้าสู่บริเวณภายในพระระเบียงรอบเจดีย์ หน้าบันมุขชั้นบนเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ หน้าบันมุขชั้นล่างเป็นรูปช้างสามเศียรเทิดบุษบกและซุ้มประตูทางเข้าเป็นทรงมณฑปครึ่งซีก บานประตูเป็นภาพเขียนสีรูปเซี่ยวกาง


ศาลาราย
เป็นศาลารายหลังเล็ก ๆ ขนาด 2 ห้อง รอบไพทีมีทั้งหมดจำนวน 8 หลัง อยู่ทางด้านหน้าพระโบสถ 2 หลัง หน้าพระวิหาร 2 หลัง และหน้าพระวิหารทิศทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ด้านละ 2 หลัง หน้าบันของศาลารายเป็นรูปเทพพนมล้อมรอบด้วยลายกนก

 wat-rachpopit13  wat-rachpopit4  wat-ratbopit18

หอระฆังและหอกลอง
หอระฆังมีลักษณะ 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนทำเป็นซุ้มมงกุฎโปร่งทั้ง 4 ด้าน ตรงมุมย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ยอดเป็นรูปพระเกี้ยวประดับด้วยกระเบื้อลายเบญจรงค์ ส่วนหอกลอง มีลักษณะเช่นเดียวกับหอระฆัง แต่มีกระจกสี 3 ด้าน


เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่อง
ตั้งอยู่มุมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวพลับพลาก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หนาบันเป็นตราราชวัลลภ ประกอบด้วยโล่ ช้างสมาเศียรเทิดพานแว่นฟ้าประดิษฐานพระเกี้ยวและมีราชสีห์คชสีห์ถือฉัตร 7 ชั้น อยู่ทางซ้ายและขวา บานหน้าต่างและบานประตูพลับพลาประดับด้วยกระจกสี ด้านหน้าพลับพลาเป็นเกยก่ออิฐถือปูน เกยและพลับพลานี้สร้างไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้ากฐินโดยทางสถลมารค (ทางบก) ตามโบราณราชประเพณี จะทรงฉลองพระองค์ด้วยขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระราชยานมีพนักงานเจ้าหน้าที่หามมาเทียบที่เกยเสด็จขึ้นพลับพลาทรงเปลื้องเครื่องขัตติยาราชภูษิตาภรณ์เปลี่ยนฉลองพฃพระองค์ใหม่ แล้วจึงเสด็จไปพระอุโบสถ

สุสานหลวง
wat-ratbopit14ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักของวัดด้านทิศตะวัน ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ และพระสรีรางคาร ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้

1. สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา
2. รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก รวมทั้งสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
3. เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี
4. สุขุมาลนฤมิตร์ บรรจุพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระนัดดา

นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เช่น อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ พระโอรสและธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลยุคล อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุพระสรีรางคารเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และพระราชธิดา อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือ "วิหารน้อย" บรรจุสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) และพระธิดา รวมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 และพระโอรส พระธิดา ตลอดจนสมาชิกสายราชสกุลอาภากร และราชสกุลสุริยง  

             wat-ratbopit19       wat-ratbopit16       wat-ratbopit15      wat-ratbopit17บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com