ตึกแถวถนนบ้านหม้อ

ชื่อราชการ
ตึกแถวสองฟากถนนบ้านหม้อ

สร้าง
สมัยรัชกาลที่ 5

ที่ตั้ง
เลขที่ 186-212, 216-230 , 272 - 276 , และ 389- 423 สองฟากถนนบ้านหม้อตัดกับ ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนพิทักษ์
ทิศใต้ จรด ถนนจักรเพชร
ทิศตะวันออก จรด ถนนบ้านหม้อและบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ทิศตะวันตก จรด บริเวณอาคารพาณิชย์ – พักอาศัย

ประวัติความเป็นมา
ถนนบ้านหม้อตั้งต้นจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าโรงยาเก่า ตัดผ่านถนนจักรเพชรสี่แยกบ้านหม้อไปออกสี่กั๊กพระยาศรี ถนนบ้านหม้อระยะตั้งแต่สี่แยกบ้านหม้อถึงสี่ก๊กพระยาศรี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของถนนตะนาวซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2406 ตึกแถวบริเวณ 2 ฟากถนนบ้านหม้อ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากลักษณะแบบอย่างคล้ายตึกแถวที่ร่วมสมัยกัน และตึกแถวห้องที่เคยเป็นที่ตั้งธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยคือบุคคลัภย์นั้น ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชนเป็นอาคารพาณิชย์ – พักอาศัย ไม่ใช่ธนาคารอีกต่อไป ธนาคารไทยพาณิชย์หรือบุคคลัภย์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2447 และใช้เป็นที่ทำการสำนักงานใหญ่เป็นเวลานาน ( ปัจจุบัน คือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ) เดิมบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่มีชื่อเสียงทางเครื่องเพชร เครื่องทอง

ตึกแถวถนนบ้านหม้อ
ตัวอย่างรูปแบบปูนปั้นขอบหน้าต่าง
ตึกแถวถนนบ้านหม้ออาคารหลังหัวและท้าย จะมีกระบังหน้า (pediment) 
ประดับลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม พิเศษเก่ากว่าหลังอื่นๆ

 

 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เป็นตึกแถว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องว่าวทรงปั้นหยา แต่มีบางส่วนเปลี่ยนไปเป็นกระเบื้องลอนอย่างในปัจจุบัน อาคารส่วนล่างเป็นส่วนที่ใช้สอยในการค้าขายจึงเป็นลักษณะแบบเปิดโล่งแบบห้องแถวทั่วๆไป ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยบานหน้าต่างลูกฟักกระดานดุนใช้บ้านพับ ใช้ปูนปั้นประดับรอบหน้าต่าง ปั้นปูนเป็นเส้นนูน 2 คู่ เป็นกรอบของหน้าต่าง เส้นขอบปูนปั้นที่ต่อขึ้นไปถึงเหนือหน้าต่างเป็นวงโค้ง การประดับด้วยปูปั้นเป็นกรอบหน้าต่างนี้เหมือนกันทุกช่องตลอดแนวของอาคาร แต่จะมีการประดับตกแต่งที่พิเศษไปจากแบบเดียวกัน เฉพาะที่เป็นอาคารห้องเริ่มต้น หรือห้องแรกของตัวตึกแต่ละช่องคือจะทำเป็นกระบังหน้าอาคารที่ชั้น 2 เช่น รูปซุ้มประตูโค้งขนาบด้วยลายก้นหอย 2 ข้าง เสาประตูซุ้มภายในซุ้มจะเป็นปูนปั้นรูป Trofy หรือแจกัน ผนังของอาคารฉาบปูนเซาะร่องเลียนแบบการก่ออิฐ

banmoh clip image002 banmoh clip image002 0000

สภาพปัจจุบัน
ตึกแถวยังคงสภาพเก่าๆไว้ ลวดลายศิลปะดั้งเดิมยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ เป็นตึกแถว 2 ชั้น ตั้งแต่เลขที่ 186 – 212, 216 – 230 , 232 – 276 , 389 – 423 ริมถนนบ้านหม้อจำนวน 63 ห้อง ประเภทของอาคารบริเวณนี้ อาจแยกได้ตามการใช้ประโยชน์ของตึกแถวได้ดังนี้คือ อาคารพักอาศัย และอาคารพาณิชย์ – พักอาศัย แบ่งเป็น ร้านค้าปลีก  บริการ  สำนักงานประกอบวิชาชีพ  

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com