วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ที่ตั้ง
เลขที่ 2 (วัดราชประดิษฐ์ฯ) ตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนสราญรมย์และกรมแผนที่ทหารบก
ทิศใต้ จรด พระราชอุทยานสราญรมย์
ทิศตะวันออก จรด ถนนราชินีและคลองหลอด
ทิศตะวันตก จรด ทำเนียบองค์มนตรี

ประวัติ

เป็นอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นสวนกาแฟใกล้พระบรมมหาราชวังเป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีที่ว่า บนผืนแผ่นดินไทยเมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญประจำอยู่ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐ์ และสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามวัดไว้ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกประกาศสร้างวัดวันที่ 26 พฤศจิกายน 2407 ว่า “วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม” วัดแรกของสงฆ์ธรรมยุตที่สร้างขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองจัดสร้าง บนพื้นที่สวนกาแฟที่รกร้างที่พระองค์ได้ซื้อไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีหลุมปักเสาศิลานิมิตในทิศทั้งแปด เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 เดือน ในระหว่างการก่อสร้างได้เกิดปัญหาที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ต่ำกลัวทานน้ำหนักไม่ไหวพระองค์รับสั่งให้นำไหกระเทียม และเครื่องลายครามที่นำมาจากเมืองจีนมาถมที่ และยังได้มีการบอกบุญเรี่ยไรให้ผู้มีจิตศรัทธานำสิ่งของเครื่องลายครามดังกล่าวมาร่วมถมยกพื้นเป็นฐานสูงประมาณสี่ศอกโดยไม่ต้องใช้เสาเข็ม เรียกว่า “พื้นไพที” อันหมายถึงพื้นอันเป็นที่รองรับพระวิหารและพระเจดีย์ของวัด ครั้นผูกพัทธสีมาแล้วได้ทรงนิมนต์พระสาสนโสภณ (สา ปุทสเทว) และพระที่คัดเลือกแล้วจำนวน 20 รูป จากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสและพระลูกวัดปกครองวัดราชประดิษฐ์ฯ ตั้งแต่นั้นมาและพระองค์ทรงพระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์


ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั้งวัด และเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถไว้ด้วย เสร็จแล้วแบ่งพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรรจุลงในกล่องศิลา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์ของพระประธานภายในพระอุโบสถ
สมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ช่างกรมศิลปากรรื้อเรือนไม้ 2 หลังที่ชำรุดสร้างเป็นปราสาทยอดทรงปรางค์แบบขอม 2 หลังแทน ตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านตะวันออก และด้านตะวันตกของพระอุโบสถ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กฝีมือการออกแบบของพระยาจินดารังสรรค์ ที่ออกแบบอนุสาวรีย์ปรางค์ขอมในสุสานวัดราชบพิธฯ

สถาปัตยกรรมที่สำคัญ

พระอุโบสถ
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนแบบทรงไทย มีมุขหน้า และหลังตั้งอยู่บนพื้นไพทีประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนเดี่ยวสีส้มอ่อน ปิดเชิงชายด้วยกระเบื้องลายเทพพนม มีช่อฟ้าใบระกาประดับ หน้าบันด้านหน้า และหลังใช้ไม้สักแกะสลักลายรูปพระมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ มีพานแว่นฟ้ารองรับ พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง 6 เชือก ทั้ง 2 ข้างประดับด้วยฉัตรห้าชั้น พื้นของหน้าบันเป็นลายกระหนก ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับด้วยรูปมงกุฎปูนปั้น บานประตูและหน้าต่างทำด้วยไม้สัก แกะสลักเป็นลายก้านแย่งซ้อนกัน 2 ชั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีหมดทุกรายการ ตัวอุโบสถด้านนอกด้านหลังมีซุ้มแกะสลักด้วยหินอ่อน ทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึกประกาศ 2 ฉบับ ภายในพระอุโบสถที่ฝาผนังโดยรอบมีจิตรกรรมฝาผนังเทพยดา ดั้นเมฆ พระราชพิธี 12 เดือน และภาพการเกิดสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ 4

หอไตร
ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทยอดปรางค์ทรงเขมร หน้าบันของซุ้มประดับด้วยปูนปั้นนูนเป็นภาพพุทธประวัติตอนประสูติ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใช้เป็นที่เก็บรักษา พระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมต่างๆ

หอพระจอม
ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถทางทิศตะวันตก เป็นปราสาทยอดปรางค์ทรงเขมร ยอดปรางค์ประดับด้วยพรหมสี่หน้า หน้าบันของซุ้มประดับด้วยปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ (บรรทมอยู่บนหลังมังกร) ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหล่อเต็มพระองค์เท่าพระองค์จริง

ศาลาทรงไทย
ด้านหน้าพระอุโบสถตรงมุมพื้นไพทีมีศาลาขนาดเล็ก 2 หลัง ด้านล่างถัดมามีศาลาขนาดเขื่องกว่าศาลาบนพื้นไพทีอีก 2 หลัง ปัจจุบันศาลาชั้นล่าง 2 หลัง มีอยู่ทางทิศตะวันตกใช้เป็นศาลาธรรมสภาแสดงปาฐกถาธรรม ทุกๆ ก่อนวันธรรมสวนะ

หอระฆัง
ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส รูปทรงคล้ายมงกุฎ มีลวดลายศิลปะแบบไทยประดับด้วยชามจากประเทศจีนนำมาตัดติดสีต่างๆ

บรรณานุกรม
อุไร สิงห์ไพบูลย์พร. อารามหลวงที่สำคัญและวัดประจำรัชกาล. กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย, 2541.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com