อาคารริมถนนราชดำเนินกลาง

ที่ตั้ง
อาคารริมถนนราชดำเนินกลางตลอดแนวสองฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
ถนนราชดำเนินกลางเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2442 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถนนราชดำเนินกลางนั้นเริ่มตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลามี ความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร สองฝั่งถนนราชดำเนินกลางมีเพียงต้นมะฮอกกานีปลูกอยู่เรียงรายเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีในพระราชหัตถเลขา ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 123 ถึงเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์มีความว่า (ตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับ)

     “ด้วยเข้าใจว่าต้นมหอกคินียังมีอยู่มาก เห็นว่าที่ข้างถนนราชดำเนินกลางแถวใน ทั้ง 2 ข้าง การที่จะทำตึกก็ยังจะช้า ถ้าปลูกต้นมหอกคินีเสียข้างละแถว อย่างต้นหูกวางถนนราชดำเนินนอกจะดี เมื่อทำตึกเมื่อไร จึงตัดต้นมหอกคินีเสีย เอาไม้ไปใช้ทำอะไร ๆ ก็ได้ ให้คิดอ่านปลูกต้นมหอกคินีตามที่ว่านี้”
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นควรให้มีศูนย์การค้าและอาคารที่สวยงามเหมือนประเทศในยุโรป จึงเลือกถนนราชดำเนินซึ่งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นถนนที่กว้างขวางใหญ่โต ดำเนินการก่อสร้างอาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางในปี พ.ศ. 2480 โดยการเวนคืนที่ดินทั้งสองฝั่งข้างละ 40 เมตร และออกแบบโดยสถาปนิกหลายท่าน  ได้แก่ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล นายหมิว อภัยวงศ์  ซึ่งใช้แนวคิดในการออกแบบจาก Champ Elysees เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ.2480-2491 มีอาคารจำนวน 15 หลัง ใช้งประมาณการก่อสร้าง 10 ล้านบาท โดยจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง อาทิเช่น บริษัทสง่าวรรณดิศจำกัด บริษัทคริสเตียนีแอนด์เนลสันจำกัด เป็นต้น 
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารริมถนนราชดำเนินกลางผู้ออกแบบยึดหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคตะวันออก ซึ่งต้องมีรูปแบบสัดส่วนของอาคารที่ถูกต้องทุกสัดส่วน โดยเฉพาะเรื่องแกนของอาคารทั้งแนวตั้งและแนวราบ (มองจากผังอาคาร) เพื่อให้เกิดการสมดุล อีกทั้งการจัดวางที่วางอาคารขนานตามแนวถนนให้รูปทรงอาคารสอดคล้องกันตลอดแนว และวางตัวอาคารให้สัมพันธฺ์กับทิศทางแดด-ลม เพื่อให้สามารถรับลมธรรมชาติได้ดี อาคารถนนราชดำเนินกลางมีรูปทรงอาคารแบบผสมสถาปัตยกรรมตะวันตก ใช้รูปทรงเลขาคณิตพื้นฐาน คือ สี่เหลี่ยมและวงกลมประกอบกันกลมกลืน วางอาคารยาวตามแนวถนนสมมาตรกันตลอดถนนราชดำเนินกลาง รูปลักษณ์ของภายนอกอาคารออกแบบให้แกนสมดุลย์อยู่กึ่งกลางอาคาร โดยกำหนดให้มีทางเข้าหลักตรงกลาง มีแนวครีบคอนกรีตทางตั้งระหว่างหน้าต่างและกันสาดยื่นออกจากแนวผนังเพื่อเน้นทางเข้า ในขณะที่หน้าต่างส่วนอื่น ๆ มีเพียงกันสาดคอนกรีตเสริมเหล็กด้านบนและปูนปั้นขอบล่างหน้าต่าง เพื่อให้รับกับคอนกรีตเสริมเหล็กที่ออกแบบไว้

ผิวภายนอกอาคารเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนทำผิวแบบไม่เรียบ (Texture) และเซาะร่องเลียนแบบการเรียงหิน ซึ่งเป็นการเน้นขอบครีบคอนกรีตเสริมเหล็กและขอบปูนปั้นกรอบหน้าต่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังคาดาดฟ้าของอาคารในส่วนโค้งปลายอาคารทั้งสองด้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนกลางอาคารระหว่างโค้งเป็นหลังคาจั่วโครงไม้มุงกระเบื้อง ยกขอบสูงเพื่อบังหลังคากระเบื้องและทำเป็นกันสาด รูปทรงอาคารดังกล่าวเป็นลักษณะพื้นฐานของอาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลาง ยกเว้นอาคารในพื้นที่มุมถนนบริเวณสี่แยกคอกวัว (แต่เดิมมี  4 อาคารปัจุบันเหลือเพียงอาคารกรมเจรจาการค้าฯ อาคารกองสลาก 2 และอาคารธนาคารออมสิน) อาคารรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ร้านอาหารเมธาวลัยศรแดง ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ร้านแมคโดนัล และร้านอาหารวิจิตร) อาคารปลายถนนราชดำเนินกลางบริเวณสะพนานผ่านฟ้าลีลาศ (ศาลาเฉลิมไทยซึ่งรื้อไปแล้ว และอาคารเทเวศประกันภัย) และอาคารโรงแรมรัตนโสินทร์  โดยออกแบบให้มีองค์ประกอบ เช่น ครีบขอบปูนปั้นผิวผนังภายนอกให้มีรูปทรงสี่เหลี่ยนมและวงกลมคล้ายกัน อาจแตกต่างกันที่อาคารและความสูงของอาคารบางส่วนโดยเฉพาะอาคารเทเวศน์ประกันภัย มีความสูง  5 ชั้น และมีโมตรงกลางอาคารที่เป็นโค้งโถงบันได แต่อาคารอื่นๆ สูง 3 ชั้น และไม่มีโดมตรงกลาง  


หน้าต่างเป็นบานกระจกกรอบไม้มีกันสาดก่อด้วยปูนยื่นออกมาจากด้านบนในทรงเรขาคณิต


ชั้นล่างของอาคารมีแระตูทางเข้าเป็นลักษณะบานกระจกกรอบไม้เช่นเดียวกับหน้าต่าง และมีช่องเปิดที่มีลักษณะเพื่อการค้าขาย แสดงสินค้า

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535
ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แพร่พิทยา, 2518.
สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมาธิการศึกษานโยบายการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเกาะรัตนโกสินทร์ (2551-2553) ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม และ           ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ สำนักกรรมาธิการ 3, 2553.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com