พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

ที่ตั้ง
บริเวณลานพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอดุลยเดชวิมลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าอานันทมหิดล ในสมัยรัชกาลที่ 7 สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งมีฐานเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระเชษฐาในรัชกาลที่ 7 ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากวงการการแพทย์แผนไทยว่า ทรงเป็น “ พระบิดาแห่งวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เวลา 1.00 นาฬิกา ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาในภายหลัง และมีสมเด็จพระราชอนุชาพระองค์หนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชสมภพ ณ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470  เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับยังต่างประเทศจนพระชนมายุ 3 พรรษา จึงได้เสด็จกลับ ประเทศไทยประทับ ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร และเมื่อทรงพระชนมายุ 4 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกก็เสด็จทิวงคต การอบรมอภิบาลจึงอยู่ในพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่เพียงพระองค์เดียว

เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีแล้วจึงทรงย้ายไปเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สภาพบ้านเมืองในระหว่างนี้มีความผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คณะราษฎร์ก่อการปฏิวัติเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะส่งพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ไปศึกษาต่อยังประเทศที่เหมาะสม ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงมีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงมาตลอด จึงทรงไปเพื่อเป็นการรักษาพระพลานามัยของพระนัดดาด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเลือกเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสถานที่ประทับ

ความเป็นอยู่ของพระองค์เป็นไปอย่างธรรมดาเรียบง่ายท่ามกลางความสุข ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับรักษาพระเนตรที่อังกฤษ และได้ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ด้วยการสืบราชสมบัติตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันติราชวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 8 พรรษา 5 เดือน 13 วัน

เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เมื่อทรงมีพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งแรกหลังจากเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ได้เสด็จพร้อมด้วยพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระอนุชาโดยเรือมีโอเนีย เรือถึงเมืองปีนังในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เวลาสองยาม วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เสตท เอโค ลงพิมพ์กระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า และในอันที่จะได้เห็นบรรดาประชาราษฎรของข้าพเจ้าเอง” ผู้แทนรัฐบาลไทยจากกรุงเทพฯ กงสุลไทย เจ้าเมืองปีนัง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไทยเก่าแก่ที่อยู่ที่ปีนังได้ไปเฝ้าในเรือ

เมื่อเรือมีโอเนียออกจากปีนังเข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากเรือมีโอเนียประทับเรือหลวงศรีอยุธยาเรือพระที่นั่ง แล่นข้ามสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล คณะทูตานุทูต ข้าราชการและพลเรือน ตลอดจนประชาชนมารอรับเสด็จ ณ ท่าราชวรดิษฐ์ อย่างเนืองแน่น ต่างพากันชื่นชมโสมนัสเมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์น้อยทรงงามพร้อมไปทุกสิ่ง ทั้งพระรูปโฉม พระวาจา พระอิริยาบถ บางคนถึงกับปีติยินดีจนน้ำตาไหลเมื่อได้เห็นธงมหาราชอันสง่างามปลิวไสวอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากประเทศไทยไปเมื่อ พ.ศ. 2477

ระหว่างที่ประทับอยู่ในพระนคร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย อาทิ เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล ที่จังหวัดลพบุรี เสด็จพระราชทานธงประจำกองแก่ยุวชนทหารที่ท้องสนามหลวง เสด็จงานสมคานักเรียนเก่าอังกฤษ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ เสด็จเยี่ยมพระบรมวงศ์ชั้นสูง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดสำคัญๆ อาทิ วัดพระเชตุพน วัดเบญจมบพิตร วัดสระเกศ วัดอรุณราชวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศ วัดสุทัศน์ และวัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น ทรงเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2482 ระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่ประทับอยู่ในประเทศไทยได้ทรงผูกพันจิตใจของประชาชนคนไทยไว้อย่างมั่นคงและแน่นแฟ้น

เสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งที่สอง 
ช่วงเวลาก่อนนั้นสถานการณ์ของโลกเข้าสู่วิกฤติจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การติดต่อระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศไม่สะดวกเพราะภัยสงคราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เพื่อทรงศึกษาตลอดระยะเวลาสงครามเป็นเวลานานเกือบ 8 ปี  ระหว่างนั้นประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ ความไม่ราบรื่นทางการเมืองภายในประเทศ การเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา และการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เป็นต้น เมื่อสงครามสงบลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพของผู้แพ้สงครามและกำลังแก้ไขไม่ให้ตกอยู่ในสภาพนั้น เนื่องจากผู้นำของประเทศในช่วงสงครามได้มีนโยบายเข้าข้างประเทศญี่ปุ่น แต่ “ขบวนการเสรีไทย” ก็ได้ช่วยทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายผู้แพ้สงคราม เนื่องจากได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านประเทศญี่ปุ่น ในด้านเศรษฐกิจ เมืองไทยตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภค เงินเฟ้อ สินค้าแพง คมนาคมไม่สะดวก ขวัญและกำลังใจของประชาชนจึงอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ช่วงเวลานี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาได้เสด็จนิวัติประเทศไทยในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 การเสด็จในครั้งนี้ทำให้ขวัญและกำลังของประชาชนชาวไทยเพิ่มขึ้นมากมาย

พระองค์เสด็จถึงสนามบินดอนเมืองซึ่งเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ไปรอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์สักหลาดสีเทาก้าวพระบาทจากบันไดเครื่องบินลงเหยียบผืนแผ่นดินไทยพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา ดวงใจทุกดวง ณ ที่นั้นเต็มตื้นและชื่นชม มีความจงรักภักดีเปี่ยมล้นเมื่อได้เห็นว่า พระองค์มิใช่พระมหากษัตริย์องค์น้อยดังที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน แต่เป็นพระมหากษัตริย์หนุ่มที่สง่างามทั้งพระรูปโฉมเป็นที่เจริญตา พระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณปรากฏชัดในแววพระเนตรและสีพระพักตร์ ทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากดอนเมืองโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจนถึงสถานีหลวงสวนจิตรลดาและเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งจนถึง พระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น นับจากวันนั้น คนไทยมีเรื่องกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนมิเว้นแต่ละวัน การไปเฝ้ารับเสด็จตามที่ต่างๆ ที่ทราบว่าจะเสด็จพระราชดำเนิน เป็นความสุขอย่างยิ่ง

a3 33ระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชพิธีทางศาสนา บำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชบุรพการี เสด็จทรงสถาปนาสมณศักดิ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จไปย่านสำเพ็งเพื่อระงับกรณีพิพาทระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่อยู่ในย่านสำเพ็ง

เสด็จในงานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังทรงเสด็จเยี่ยมสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่น วัดสำคัญในพระนครและต่างจังหวัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชวังโบราณอยุธยา พระราชวังบางปะอิน กรมอู่ทหารเรือ เสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง โดยที่พระราชกรณียกิจสุดท้ายคือ ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไว้แก่แผ่นดิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวเกษตรบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489

a3 31ตามหมายกำหนดการ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทรงทำปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่ยังทรงทำค้างอยู่ให้เสร็จ ก่อนกำหนดเสด็จกลับไม่กี่วัน ทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่เป็นปรกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง จึงต้องทรงประทับอยู่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจึงวิ่งเข้าไปดูเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ สวรรคตเสียแล้ว

ข่าวที่ว่า “ ในหลวงสวรรคต” สะเทือนใจคนไทยทั้งแผ่นดินยังความเศร้าโศกเสียใจไปทั่วประเทศ มีการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับและอยู่ในความสนใจของหลายประเทศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ท่ามกลางพสกนิกรที่จงรักภักดีและเทิดทูนบูชาอย่างเนืองแน่นมืดฟ้ามัวดิน  และวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาประดิษฐานในผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ประดุจดังพระราชดำรัสที่เคยกล่าวไว้ว่า “ (วัดสุทัศน์) ที่นี่เงียบสงบน่าอยู่จริง”

 

a3 29
กระบวนเชิญพระโกศพระบรมศพโดยพระยานมาศสามลำคาน
จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระมหาพิชัยราชรถ
หน้าวัดเชตุพนฯ (29 มีนาคม 2493)
a3 26
พระโกศพระบรมศพประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ
แห่เชิญจากหน้าวัดพระเชตุพนฯไปยังพระเมรุมาศ
ท้องสนามหลวง (29 มีนาคม 2493)

a3 21                 ริ้วกระบวนเชิญพระโกศพระบรมศพจากหน้า 
               วัดพระเชตุพน ไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง
                            (29 มีนาคม 2493)

 

a3 23

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
                  เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพ
                       (29 มีนาคม 2493)

  ลักษณะทางศิลปกรรมที่สำคัญ


   
พระบรมราชานุสาวรีย์พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และคำจารึกด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ตั้ง ณ บริเวณลานประทักษิณชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม พระบรมรูปหล่อด้วยสำริดขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืนบนแท่นหินอ่อนยกพื้นสูง มีแผ่นทองเหลืองจารึกเกี่ยวกับกำหนดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เบื้องหลังเป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้ง ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ "อปร" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com