ชุมชนท่าช้าง

ชุมชนท่าช้าง

“ท่าช้าง” เป็นชื่อของชุมชนและมีความสำคัญในการเป็นแหล่งการค้าขายของอุปโภคบริโภคที่สำคัญ รวมทั้งยังมีท่าเรือด่วนและเรือข้ามฟากอีกด้วย ท่าช้างตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช ใกล้กับพระบรมหาราชวังและวัดพระแก้ว

ประวัติ
ท่าช้างแต่เดิมนั้นในสมัยสร้างกรุงเป็นประตูเมืองที่วังหลวงนำช้างลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ในบริเวณนี้จึงได้รับการเรียกขานว่า “ท่าช้าง” ส่วน คำว่า” ท่าพระ” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกท่าช้างวังหลวง ปัจจุบันใช้เรียกท่าเรือฝั่งตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง การที่เรียกท่าช้างวังหลวงว่าท่าพระนั้น เนื่องมาจากท่าน้ำแห่งนี้เคยเป็นท่าพักแพประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญประดิษฐานบนแพล่องมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย เพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อพ.ศ. 2351 ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อชะลอพระพุทธรูปขึ้นจากท่าก็ไม่สามารถผ่านประตูเข้าเมืองได้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้รื้อประตูเดิมออกแล้วให้สร้างประตูเมืองใหม่ พระราชทานนามว่า “ ประตูท่าพระ” และ โปรดฯให้พักแพที่ท่าช้างวังหลวงประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธรูปเป็นเวลา 3 วัน แล้วชักพระอัญเชิญขึ้นที่ท่าช้างวังหลวง ภายหลังจากที่วังหลวงเลิกนำช้างลงอาบน้ำท่าช้างแล้ว “ ท่าช้าง” เป็นชุมชนเก่าที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับเขตพระนครเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับวังมาแต่สมัยโบราณ ในฐานะเป็นสถานที่สำหรับอาบน้ำช้างพระที่นั่ง ช้างในพระบรมมหาราชวัง (ในการพิธีต่างๆ ) ชื่อของสถานที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “ ท่าช้าง” แม้ในช่วงสมัยที่บริเวณนี้ไม่ได้เป็นท่าสำหรับอาบน้ำช้างอีกแล้ว แต่ผู้คนก็ยังคงเรียกขานท่าน้ำนี้ว่า “ ท่าช้าง” เรื่อยมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมา จึงมีผู้เรียกท่าช้างวังหลวงว่าท่าพระอีกชื่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีบันทึกด้วยว่าที่แห่งนี้เคยเป็นร้านขายของของฝรั่งชาติเวยอรมัน ชื่อว่า “ ห้างสโมสรข้าราชการ” เป็นร้านขายและรับตัดเครื่องแบบข้าราชการทุกเหล่า

ทุกวันนี้ชื่อท่าพระยังคงเหลือหลักฐาน คือเป็นชื่อวังที่ตั้งบริเวณท่าช้างวังหลวง บริเวณริมถนนหน้าพระลาน เรียก วังท่าพระ เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนสถานที่ที่เรียกว่าท่าพระนั้นได้เลื่อนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง โดยเป็นท่าเรือโดยสารที่เอกชนมาดำเนินการ มีท่าเรือข้ามฟาก ตลาดสด และร้านค้าตั้งอยู่เรียงรายลักษณะเป็นตึกแถวโบราณสร้างใน

สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สภาพตึกแถวยังคงความงามตามสถาปัตยกรรมเดิม

อาชีพ

ชุมชนท่าช้าง
                    ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2547
               ก่อนการปรับปรุงภูมิทัศน์และตึกแถว

ท่าช้างในวันนี้มีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากอดีต (ราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์) อยู่มากพอสมควร ท่าช้างปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นท่าเรือข้ามฟากขนาดใหญ่ในย่านนี้ เพราะผู้คนสามารถข้ามฟากไปมาระหว่างวังหลัง (ศิริราช)–ท่าช้าง ท่าวัดระฆัง–ท่าช้าง นอกจากนี้ยังเป็นท่าขึ้น-ลงเรือของท่าเรือด่วนเจ้าพระยา และยังมีบริการท่องเที่ยวล่องเรือตั้งอยู่  ท่าช้างจึงเป็นท่าลงเรือสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่สนใจล่องเรือชมทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย และด้วยเหตุที่ท่าช้างเป็นท่าขึ้น-ลงเรือหลายประเภท ผู้คนที่ผ่านไปมาที่นี่จึงพลุกพล่านตลอดทั้งวัน จึงทำให้มีการจับจ่ายบริเวณท่าเรือจนเรียกได้ว่าเป็นตลาดขนาดย่อมที่มีสินค้าหลากหลายให้ผู้ที่ผ่านไปมารวมถึงนักท่องเที่ยวให้ได้เลือกซื้อหากันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหารการกิน ผักผลไม้ สินค้าhandmade ประเภทต่างๆ ฯลฯ

บริเวณลานลั่นทมซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชุมชนแต่เดิมมีร้านค้าขายอาหารมากมายให้ผู้คนได้เลือกสรรหากัน ปัจจุบันทำเป็นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ยังคงมีการค้าขายแบบราบเห่ขายผลไม้ น้ำดื่ม และของที่ระลึก  แก่นักท่องเที่ยว บริเวณลานโล่งก่อนขึ้นท่าเรือโป๊ะท่าช้างนี้อยู่ติดกับราชนาวีสโมสรและยังมีป้ายรอรถโดยสารอีกด้วย ท่าช้างจึงมีทั้งท่ารถและท่าเรือ จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมที่บริเวณท่าช้างแห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยผู้คนและมีความคึกคักอยู่ตลอดเวลา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ชุมชนท่าช้างบริเวณท่าช้างมีสถานที่สำคัญใกล้เคียงอยู่นั่นคือ “พระบรมมหาราชวัง ” และ “มหาวิทยาลัยศิลปากร ” สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและแหล่งศึกษาสองแห่งหนึ่งจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนท่าช้างนั้นมีสีสันและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ท่าช้างแม้จะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่เป็นชุมชนที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เอกลักษณ์ที่สำคัญของชุมชนในบริเวณนี้นั่นคือ สถาปัตยกรรมของบ้านเรือนที่ร้านค้าที่อยู่อาศัยที่ยังคงร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์เอาไว้ เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและยุโรปเอาไว้ด้วยกัน ได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้โดยกรุงเทพมหานคร และ เขตพระนคร สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้หลงเหลืออยู่ให้เห็นไม่มากนักในประเทศไทย แต่สำหรับในเขตพระนครแล้วนั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้อยู่อีกหลายชุมชน เพราะนอกเหนือจากท่าช้างแล้วยังคงมีให้พบเห็นกันได้อีกที่บริเวณ ท่าพระจันทร์ ท่าเตียน ท่าพระ อาทิตย์ และบริเวณหน้าพระลาน

ชุมชนท่าช้าง ถือเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีการปะทะติดต่อกับชุมชนภายนอกโดยตรงด้วยเหตุผลที่เป็นสถานที่เส้นทางคมนาคมที่สำคัญทั้งทางบกทางน้ำดังที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ฉะนั้นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชุมชนให้อยู่รอดได้นั้นก็คือการทำการค้า ทั้งนี้เพราะปัจจัยที่เอื้ออำนวยและหล่อเลี้ยงชุมชนนั้นคือการปะทะสังสรรค์กับผู้คนภายนอก ทำให้ไม่เพียงแต่คนภายในชุมใชนเท่านั้นที่ทำการค้าในบริเวณท่าช้างแห่งนี้ แต่คนภายนอกจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้ามาทำมาหากินและอาศัยชุมชนนี้ทำมาหากินเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นค้าขายอาหาร ของที่ระลึก มัคคุเทศก์ ฯลฯ ทำให้ชุมชนจึงประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ชุมชนท่าช้างมีสัดส่วนที่อยู่อาศัยน้อย แต่มีพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ นั้นมากกว่า ผู้ที่อาศัยส่วนมากทำการค้าและจำนวนหนึ่งทำอาชีพอื่นๆ ภายนอกชุมชน แม้ว่าชุมชนท่าช้างนี้จะเป็นชุมชนเก่าดั้งเดิมก็จริงอยู่ หากแต่การผลัดเปลี่ยนเข้ามาอยู่อาศัยของคนในชุมชนนั้นจะเปลี่ยนหน้าไปอย่างไม่ซ้ำซาก บริเวณที่อยู่อาศัยในชุมชนเหล่านี้มีผู้ถือครองอยู่ในชุมชนอื่น ส่วนหนึ่งเป็นบริเวณบ้านเช่า ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นตึกแถว ผู้คนที่อยู่ในชุมชนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยมาราว 30-50 ปี ที่ผ่านมา

มุมมองเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนี้ เห็นว่าชุมชนเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันกับวังและสายน้ำ พวกเขาค่อนข้างมีความผูกพันกับน้ำสูง โดยเชื่อว่าการที่ชุมชนนั้นอยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นข้อได้เปรียบประการแรกที่ทำให้ชุมชนท่าช้างและพวกเขาสามารถทำมาหากินและประกอบอาชีพได้ โดยมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยที่เอื้อหนุนให้ชุมชนนั้นเป็นที่รู้จักและมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น ผู้คนในชุมชนท่าช้างจำนวนไม่น้อยที่มีความภูมิใจกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ โดยพวกเขารู้สึกว่าการอยู่อาศัยในชุมชนบริเวณนี้นั้นทำให้รู้สึกได้ว่าพวกเขาเองก็ได้รับความสำคัญตามไปด้วย เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจเพราะอยู่ในชุมชนที่โอบล้อมด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การที่อยู่ในบริเวณชุมชนนี้ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงในความเป็นอยู่ได้ว่าจะสามารถทำมาหากินและอยู่ได้อย่างไม่อดตาย เพราะเชื่อแน่ว่าการอยู่อาศัยในใจกลางเมืองหลวงที่มีการส่งเสริมในเรื่องของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอยู่เสมอนั้นจะทำให้ชุมชนยังคงมีสีสันอยู่ได้ต่อไป

บรรณานุกรม 
เบญจรัชต์ เมืองไทย. "ลัดเลาะคูเมือง สานตำนานไพร่ จดจารึกหน้าสุดท้าย เกาะ รัตนโกสินทร์ ." นิตยสาร HI-CLASS MAGAZINE ปีที่ 11 ฉบับที่ 133 (พ.ค. 2538)
สัมภาษณ์คุณวันนา ตรีนิตย์ อายุ 48 ปี วันที่ 10 สิงหาคม 2547 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com