วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

ที่ตั้ง  แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสลัก” ในหนังสือเก่าบางแห่งเรียกว่า “วัดฉลัก” “วัดชะหลัก” สันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างมีของสิ่งใดทำด้วยฝีมือสลัก ผิดกับที่ทำเกลี้ยง ๆ เป็นสามัญในวัดอื่น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “วัดสลัก” อีกความเห็นหนึ่งเป็นคำเก่าเล่าต่อกันมาว่า วัดนี้แต่ก่อนมีพระภิกษุเป็นช่างฝีมือแกะสลักขึ้นอยู่มาก เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า “วัดสลัก”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระนครทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสลักอยู่ในพระนครฝั่งตะวันออก จึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เป็นที่สถิตของพระราชาคณะ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีวัดที่อยู่ใกล้ชิดพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ 2 วัดคือ วัดโพธาราม และวัดสลัก

        1. วัดโพธาราม อยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังข้างด้านใต้ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดนี้และพระราชทาน นามว่า “วัดพระเชตุพน”
        2. วัดสลัก อยู่ข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง แต่อยู่ชิดด้านใต้พระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรม พระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดสลัก และขนานนามใหม่ ชื่อว่า “วัดนิพพานาราม”

ในปี พ.ศ.2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงมีพระราชดำริว่า วัดนิพพานาราม ควรเป็นที่พระสงฆ์ทำสังคายนา เพราะอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับวังหน้า และก่อนการทำสังคายนาพระไตรปิฎกโปรดเกล้าให้เป็นนามใหม่ว่า “วันพระศรีสรรเพชดาราม”

ในปี พ.ศ. 2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ทรงออกผนวช ณ วัดพระศรีสรรเพชดาราม
ในปี พ.ศ. 2344 เกิดเพลิงไหม้เขตพุทธาวาส เนื่องจากสามเณรจุดดอกไม้เพลิงแล้วไปตกที่หลังคาพระมณฑป พระอุโบสถ และพระวิหาร
ในปี พ.ศ. 2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรม และโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดมหาธาตุ”
ในปี พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2437 อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์พระอารามจนสำเร็จ และโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อนามพระอารามเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษดิ”

สิ่งสำคัญภายในวัด
พระมณฑป
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างเมื่อสถาปนาวัดนิพพานารามให้เป็นประธานของวัด โดยตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถและพระวิหารภายในพระระเบียงคด เดิมมีเครื่องยอดอย่างปราสาท ในปี พ.ศ. 2344 ได้เกิดเพลิงไหม้ยอดมณฑปเสียหายหมด จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่เป็นหลังคาโรง และสร้างพระมณฑปทองสูง 10 วา ขึ้นไว้ข้างในครอบพระเจดีย์ทองไว้แทนพระมณฑปที่ไฟไหม้ พระมณฑปนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 5
ลักษณะพระมณฑปเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

mahatart2พระมณฑป mahatart3พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพระมณฑป

พระอุโบสถ
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเมื่อแรกสถาปนาพระอาราม และได้ถูกไฟไหม้พร้อมพระมณฑป จึงโปรดให้สร้างใหม่ทั้งหลัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันเลือนหมด ผนังทาสีพื้นขาว ภาพเขียนที่ผนังเป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ และรูปเทพชุมนุม เสาทาสีเขียวลายทรงข้าวบิณฑ์ เพดานลายฉลุทอง ลักษณะพระอุโบสถในปัจจุบัน เป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยภาพเทวดาเหาะด้านละ 3 องค์ เหนือขึ้นไปเป็นเทพพนม พื้นลายทั่วไปเป็นลายใบเทศก้านต่อดอกรอบพระอุโบสถมีสีมาตั้งประจำ 4 ทิศ ใบสีมาสลักเป็นภาพครุฑยุดนาค

พระวิหาร
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้น เดิมยาว 12 ห้อง ได้รับการบูรณะให้มีมุขโถงทั้งข้างหน้าข้างหลังในรัชกาลที่ 3 เพื่อให้พระวิหารยาวเท่าพระอุโบสถ ลักษณะพระวิหารในปัจจุบัน เป็นอาคารทรงไทยฐานสูงมีมุขด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันพระวิหารเป็นรูปตราพระราชสัญลักษณ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีอักษรย่อว่า ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. (เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ)

mahatart1 mahatart4

พระปรางค์และพระเจดีย์ราย
ตั้งอยู่ในเขตพระระเบียง ด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ มีเจดีย์ด้านละ 2 องค์ พระปรางค์ด้านละองค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หุ้มด้วยดีบุก และซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 3 เอาดีบุกออก พระปรางค์องค์ใหญ่ 2 องค์ด้านหน้าพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

พระวิหารโพธิลังกา
เป็นพระวิหารน้อยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช ตั้งอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2475 สมเด็จพระวันรัต (เขมจารี) เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง เมื่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถวาย “พระนาก” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อันเป็นพระสำคัญสมัยรัชกาลที่ 4 มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารน้อยนี้

พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท
สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ เป็นผู้ดำเนินการสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ พระบวรราชานุสาวรีย์นี้อยู่ด้านหน้าพระวิหารโพธิลังกา มีขนาดเท่าครึ่งอยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา ภายในบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาเหยียบรวมทั้งสิ้น 28 แห่งไว้ใต้ฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิการยน 2522

mahatart5 mahatart6

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2432 และพระราชทานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายคู่กับมหามงกุฎราชวิทยาลัย ในการสถาปนา “มหาธาตุวิทยาลัย” นับเป็นครั้งแรกที่ใช้คำว่า “วิทยาลัย” ในภาษาไทย และในปี พ.ศ. 2439 มีพระบรมราชโองกรพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” มีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ โดยมอบพระราชภาระให้อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบันมีชื่อตามพระราชบัญญัติว่า “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” 

สำหรับอาคารเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 บริเวณที่ตั้งอาคารเดิมเป็นสระน้ำ ซึ่งมีมาพร้อมกับวัดชื่อว่า สระนิพยนิภา ต่อมาถูกถมเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช
อาคารที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (นาค) ต้องประทับ ณ วัดราชบูรณะ เนื่องจากมีการบูรณะครั้งใหญ่ของวัดมหาธาตุที่ชำรุดทรุดโทรมมาก จนสิ้นรัชกาลที่ 3 ก็ยังไม่เสร็จ  ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อันดับที่ 7 ของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงประทับ ณ วัดพระเชตุพน มิได้เสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุ จนสิ้นพระชนม์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เพื่อปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ รวมถึงตำหนักสมเด็จพระสังฆราชทั้งหมู่ ซึ่งว่างมาตั้งแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ถึงแก่มรณภาพในสมัยรัชกาลที่ 4 และใช้เป็นคลังเก็บเครื่องประดับศพของหลวงเพื่อใช้เป็นที่สถิตของอธิบดีสงฆ์ดังแต่ก่อน

บรรณานุกรม
พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร. (2555). วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. (2525). นำชมกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com