ตึกแถวถนนหน้าพระลาน

 

ที่ตั้ง     
เลขที่ 2 – 30 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด มหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมศิลปากร
ทิศใต้ จรด ถนนหน้าพระลาน
ทิศตะวันออก จรด ถนนหน้าพระธาตุ
ทิศตะวันตก จรด มหาวิทยาลัยศิลปากร

 ประวัติ
ตึกแถวถนนหน้าพระลานนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเดิมในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เคยเป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 3 วัง ได้แก่ วังถนนหน้าพระลานวังตะวันตกสร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิด หรือเจ้าฟ้าเหม็น วังถนนหน้าพระลานวังกลางโปรดฯ ให้สร้างเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอรุโณทัย (กรมหมื่นศักดิพลเสพ) และวังถนนหน้าพระลานตะวันออกจนถึงมุมถนนหน้าพระธาตุโปรดฯให้สร้างเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอภัยทัต (กรมหมื่นเทพพลศักดิ์) วังเหล่านี้ได้เป็นที่ประทับของเจ้านายมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ภายหลังบริเวณวังทั้งสามได้กลายเป็นสถานที่ราชการ ได้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมศิลปากร สำหรับกำแพงวังนั้นได้รื้อสร้างเป็นตึกแถวในสมัยต่อมา ตึกแถวบริเวณที่ตั้งวังนี้เข้าใจว่าเป็นตึกแถวที่เจ้าของวังได้สร้างขึ้นเพื่อเก็บผลประโยชน์ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในย่านชุมชนและพาณิชยกรรม โดยใช้พื้นที่ตั้งวังด้านหน้าที่หันหน้าสู่เส้นทางสัญจรในสมัยนั้น ลักษณะของตึกแถวเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะตะวันตก ซึ่งนิยมประดับประดาอาคารด้วยลายปูนปั้น อายุของตึกแถวถนนหน้าพระลานสันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับตึกแถวถนนมหาราช บริเวณท่าช้างวังหลวง  

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ตึกแถวถนนหน้าพระลานเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ด้านหน้าอาคารมีกระบังหน้า (pediment) ตรงคูหากลางและคูหาปลายของแถวกระบังหน้า ตรงคูหากลางมี 3 ห้อง เป็น pediment ใหญ่ลายปูนปั้นรูปดอกบัวคล้ายกับตึกแถวถนนมหาราช ขนาบข้างด้วยแจกันปูนปั้น คอสอง (ส่วนที่อยู่ระหว่าง pediment กับหัวเสา) ประดับลายเฟื่อง ส่วน pediment คูหาปลายลวดลายเป็นชายผ้าหรือชายริบบิ้นขนาบข้างด้วยแจกันปูนปั้น หน้าต่างโค้งเป็นบานแฝดอยู่ภายในกรอบวงโค้ง ช่องลมหน้าต่าง 2 บานนี้เป็นไม้ฉลุลาย บานหน้าต่างเป็นบานลูกฟักกระดานดุน



                    
ลักษณะคูหากลาง                                               คอสองประดับลายเฟื่อง

                           
pediment คูหาปลายลวดลายเป็นชายผ้าหรือชายริบบิ้น                                 pediment คูหากลางเป็นลายปูนปั้นรูปดอกบัว

ประตูมี 2 แบบ ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมอยู่ภายในกรอบวงโค้งเล็กน้อย ส่วนบนของประตูส่วนนี้ใส่เหล็กสั้นๆ เป็นระยะตลอดความกว้างของประตู ประตูเป็นแบบบานลูกฟักกระดานดุน ประตูชั้นบนปรากฏเฉพาะตรง pediment เป็นประตูโค้งครึ่งวงกลม ช่องแสงประตูติดกระจก ส่วนล่างของช่องแสงนี้เป็นไม้สลักลาย บานประตูเป็นบานลูกฟักกระดานดุน ระเบียงปรากฏตรงช่องที่มี pediment เท่านั้น เสามี 3 แบบ คือ แบบเสาอิง หรือเสาประดับอาคารเป็นเสาเหลี่ยม มีรอยเซาะร่องตื้นๆตามแนวนอนของต้นเสา เสาลอยตัว เป็นเสากลมรับ pediment มีลวดลายที่ปลายเสาเป็นลายก้นหอยและเสากลมลอยตัว ไม่มีฐานและปลายเสา มีแต่ รอยเซาะร่องตื้นตามแนวขวางปรากฏตรงชั้นล่าง ช่วงปลายและช่วงกลางของแถว ผนังมีรอยเซาะร่องตื้นตามแนวขวางเช่นเดียวกับเสาเหลี่ยมที่ประดับอาคาร พื้นปูกระเบื้องลาย ตึกดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงสภาพชั้นล่างไปบ้างแล้วตามสภาวะอาชีพที่ประกอบในปัจจุบัน และตามอายุขัย

               
ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมอยู่ภายในกรอบวงโค้งเล็กน้อย      ประตูชั้นบนจะเป็นประตูโค้งครึ่งวงกลม ช่องแสงประตูติดกระจก 

สภาพปัจจุบัน 
ปัจจุบันตึกแถวนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้เอกชนเข่าอยู่อาศัยและประกอบการค้า จากการสำรวจการใช้ที่ดินของตึกแถวบริเวณนี้ปรากฏว่าเป็นตึกแถวที่ยังคงสภาพเดิมเมื่อแรกสร้าง แต่ได้ดัดแปลงชั้นล่างของอาคารไปแล้วบ้าง ตึกแถวถนนหน้าพระลานเป็นอาคารสูง 2 ชั้น จำนวน 24 ห้อง ตั้งแต่เลขที่ 230 ริมถนนหน้าพระลาน ประเภทของอาคารแยกตามการใช้ประโยชน์ของตึกแถวได้ดังนี้อาคารพาณิชย์พักอาศัย 29 ห้อง  แบ่งเป็น    ร้านค้าปลีก   บริการ   สถานที่ราชการ  

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

                                                            

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com