ชุมชนถนนดินสอ

ชุมชนถนนดินสอ

ที่ตั้ง
ถนนดินสอเป็นย่านหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นถนนที่มีเส้นทางตัดกับถนนราชดำเนินกลาง ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และมีอาณาเขตติดกับถนนตีทอง อีกทั้งในบริเวณถนนสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่งด้วยกันคือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา
“ถนนดินสอ” มีประวัติความเป็นมาตามที่พบในเอกสารเก่าเรียกว่า “ถนนตรอกดินสอ” ส่วนในแผนที่เก่าจะใช้คำว่า “ถนนบ้านดินสอ” แต่ต่อมาอาจเกิดการใช้คำตกหล่น จนทำให้คำว่า “บ้าน” หายไป เพราะในย่านนี้มีสถานที่ที่ใช้คำว่าบ้านหลายแห่ง เช่น บ้านบาตร บ้านพานถม เป็นต้น

การสร้างถนนในกรุงเทพฯ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ยังมีเพียงไม่กี่สาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างถนนแบบทันสมัย โดยใช้หินขนาดต่างๆ โรยบดเป็นชั้นๆ ซึ่งในเอกสารบางเล่มได้สันนิษฐานไว้ว่าถนนดินสอน่าจะสร้างในช่วงเดียวกับถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับเรื่องราวของถนนดินสอได้ปรากฏในหนังสือซึ่งแต่งโดย กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) ใน “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ว่า “ ถนนดินสอตั้งต้นจากลานเสาชิงช้าตรงโบสถ์พราหมณ์ ตรงไปทางเหนือถึงสะพานคลองหลอด (หรือคลองวัดมหรรณพ์) ซึ่งย่านนี้เรียกกันว่า ตึกดิน (ตำบลตึกดิน) ข้ามสะพานไปถึงสี่แยกราชดำเนินกลาง ตรงไปจดถนนพระสุเมรุ ซึ่งเป็นถนนรอบกำแพงเมือง… ฟากตรงข้ามตลาดเสาชิงช้ายังเป็นเรือนไม้ใหญ่น้อยและมีตรอกข้างวัดมหรรณพ์คดๆ เคี้ยวๆ ไปออกถนนตะนาวกับมีตรอกโบสถ์พราหมณ์วกวนไปออกตรอกวัดมหรรณพ์ได้ บ้านเรือนเป็นไม้ทั้งนั้น…” จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่าที่อยู่อาศัยในอดีตของย่านนี้ก็เช่นเดียวกับย่านอื่นๆ ในกรุงเทพที่มีลักษณะบ้านเรือนทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่

ในส่วนที่มาของชื่อ “ ถนนดินสอ” นี้ ในหนังสือ “ ฟื้นความหลัง” ของเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ได้เล่าถึงดินสอที่ใช้กันในเมืองไทยที่มีมาแต่เดิมนั้น ทำจากดินดานผสมดินสอพองและขมิ้นผง นวดให้เข้าด้วยกัน ตัดเป็นแท่งๆ ตามขนาดที่ต้องการ แล้วตากแดดให้แห้ง ดินสอชนิดนี้ นอกจากจะนำมาเขียนหนังสือแล้ว ยังเป็นที่นิยมของสตรีมีครรภ์บางรายที่แพ้ท้องอีกด้วย ซึ่งถ้าหากบ้านดินสอจะเป็นหมู่บ้านที่ทำดินสอในอดีต ก็คงจะเป็นไปได้เพราะย่านที่ทำดินสออย่างนี้พบหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

นอกจากนั้น ข้อสันนิษฐานที่ว่าบ้านดินสอเป็นแหล่งผลิตดินสอไทยนี้ ยังได้รับการยืนยันจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า “… ส่วนดินสอนั้น อาจซื้อได้จากร้านที่เขามีกองไว้ขาย แต่เท่าที่นึกได้ ดูจะมีร้านขายดินสอชนิดนี้น้อยแห่งเต็มที ถ้าต้องการจะซื้อได้เสมอ ก็ต้องไปที่ตำบลเสาชิงช้าในเมือง… ตอนด้านตะวันตก ตรงข้ามกับเทวาลัย ซึ่งเรียกว่าโบสถ์พราหมณ์ มีร้านขายดินสอที่กล่าวนี้อยู่หลายร้าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถนนดินสอ คงตั้งตามชื่อ จากร้านขายดินสอแถวนั้นเป็นแน่…”จากจุดนี้ อาจเป็นไปได้ว่าถนนดินสอในที่นี้เป็นการเรียกอาชีพที่ผู้คนนิยมทำกันในย่านนี้คือ ทำดินสอ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม “ บ้านดินสอ” หรือ “ ถนนดินสอ” นี้ ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าจะเป็นแหล่งผลิตดินสอพอง เพราะแม้ว่าที่นี่จะไม่เหลือร่องรอยการทำดินสอพองให้เห็น แต่ผู้ที่อยู่ในย่านนี้มายาวนานยังยืนยันว่า บ้านดินสอซึ่งอยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้านั้น เป็นแหล่งผลิตดินสอพองเก่าแก่ ซึ่งในวิทยานิพนธ์ของวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมใน กรุงเทพฯ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “… รอบๆ วัดสระเกศเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องใช้สำหรับเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งในพระนคร ชุมชนที่อยู่ในบริเวณนี้น่าจะเป็นที่รวมของไพร่ที่มีอาชีพและความสามารถในการผลิตที่เรียกชื่อบ้านตามลักษณะอาชีพ เช่น บ้านพานถมผลิตเครื่องถม ขันน้ำพานรอง… บ้านดอกไม้ผลิตดอกไม้เพลิงอยู่หน้าวัดสระเกศ ถัดออกไปทางวัดสุทัศน์มีย่านตีทองทำทองคำเปลว และบ้านดินสอทำดินสอพอง อยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้าข้างวัดสุทัศน์…” การเรียกชื่อ ” ดินสอพอง” นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการหยอดดินเป็นดอกเล็กๆ ตากแดดทิ้งไว้ให้เนื้อดินแห้งสนิท จะมีลักษณะพองเป็นดอกกลมๆ คนไทยในอดีตนิยมใช้ดินสอพองทาผิว โดยนำมาละลายน้ำ เพื่อเป็นน้ำหอมทาทั่วร่างกาย อีกทั้งดินสอพองยังใช้เป็นยาทาแก้พิษ ผด ผื่นคัน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเงิน และนำไปผสมน้ำทาไม้ผสมสีทาบ้าน รวมถึงใช้ทำยาสีฟันอีกด้วย จากที่กล่าวมา ข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ประการนี้ จึงอาจเป็นที่มาของ “ถนนดินสอ” ได้ ขึ้นอยู่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป

ชุมชนถนนดินสอ

อาชีพ
ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปของอาชีพที่คนย่านถนนดินสอทำในอดีตได้ แต่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก จากการตั้งร้านรวงต่างๆ ทั้งถนนเส้นหลักและตามตรอก ซอก ซอย โดยเฉพาะการขายอาหารนับเป็นอาชีพที่พบมากที่สุดในย่านนี้ ทั้งอาหารคาว รวมไปถึงอาหารหวาน และที่สร้างชื่อเสียงให้กับถนนย่านนี้คือ ร้านขายนมและขนมปังที่มีชื่อร้านว่า “ มนต์นมสด” นอกจากนั้น ยังมีคนในย่านถนนดินสอบางส่วนที่เปิดสำนักงานหรือบริษัท เช่น สำนักงานทนายความ และโรงเรียนสอนพิเศษด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพบนถนนเส้นนี้ นอกจากจะเป็นคนในย่านนี้แล้ว ยังมีคนที่มาจากที่อื่นๆ อย่างต่างจังหวัดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ลักษณะการตั้งร้านอาหารแบบถาวรก็จะพบว่าเป็นคนถิ่นนี้เท่านั้น ส่วนคนภายนอกมักจะเป็นลักษณะของการขายบนรถเข็นหรือหาบของขายมากกว่า

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม / ศิลปกรรมที่สำคัญ
ถนนดินสอมีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ซึ่งเป็นศาสนาสถานของผู้นับถือศาสนาพราพมณ์- ฮินดู, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากตัวตึกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าประทับใจคือ การจัดลานหน้าศาลากลางกรุงเทพมหานครเป็นเหมือนสวนพักผ่อน โดยมีที่จอดรถอยู่ลานด้านล่าง, และบ้านขนมปังขิง เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในแถบนี้ ด้วยลักษณะการสร้างบ้านที่เป็นแบบขนมปังขิง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในบริเวณซอยหลังโบสถ์พราหมณ์

บรรณานุกรม
กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2542.
ปราณี กล่ำสัม. เมื่อวันวานที่ย่านถนนดินสอ, วารสารเมืองโบราณ. 27,1 (ม.ค.-มิ.ย.2544) หน้า 122-125.
วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. “ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมใน ‘ กรุงเทพ ’ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ.2325– 2411” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.
เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 1. พระนคร : ศึกษิตสยาม 2513.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com