อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อาณาเขต

       ทิศเหนือ จรด ถนนประชาธิปไตย
      ทิศใต้ จรด ถนนบ้านดินสอ
      ทิศตะวันออก จรด ถนนราชดำเนินกลาง
      ทิศตะวันตก จรด ถนนราชดำเนินกลาง

ความเป็นมา ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

          สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 ในสมัยรัชกาลที่ 8 เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่คณะราษฎร์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบโดยเน้นรูปแบบสถาปัตยกรรมให้แสดงออกถึงความหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ ปีกสูงจากพื้น 24 เมตร และพื้นรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร หมายถึงเดือน 3 แห่งปี คือเดือนมิถุนายน ปืนใหญ่ 75 กระบอก หมายถึง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระขรรค์ 6 เล่ม หมายถึงนโยบาย 6 ประการในการปกครองประเทศของคณะราษฎร์ และปูนปั้นรูปบุคคลต่าง ๆ แสดงถึงเหตุการณ์ในขณะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎร์

ที่ตั้ง กลางสี่แยกถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนบ้านดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

           ตัวพานรัฐธรรมนูญเป็นทองสัมฤทธิ์ มีปืนใหญ่ 75 กระบอกฝังปากกระบอกลงดิน โดยรอบอนุสาวรีย์ มีพระขรรค์ 6 เล่ม ติดอยู่กับประตูป้อมทั้ง 6 ด้าน ภาพบุคคลเป็นปูนปั้นแบบนูนสูงประกอบติดที่ฐานล่างของปีกทั้ง 4 แสดงประวัติของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อนุสาวรีย์นี้ประดิษฐานอยูบนลานวงกลมลดลั่นเป็นชั้น ๆ ที่ฐานด้านนอกของปีกทั้ง 4 ก่อปูนเป็นอ่างน้ำพุ เหนืออ่างสร้างเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำลงในอ่างอีกชั้นหนึ่ง

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com