ตึกแถวถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน

thatien14

ที่ตั้ง
เลขที่ 2 – 32 และ 248 – 330 บริเวณตลาดท่าเตียน ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ซอยท่าโรงโม่
ทิศตะวันออก จรด ถนนมหาราช
ทิศตะวันตก จรด ตลาดท่าเตียนและแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศใต้ จรด ซอย ท่าเตียน

ประวัติ
เดิมพื้นที่บริเวณตึกแถวถนนมหาราช ท่าเตียนนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้สร้างวังท่าเตียนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสองค์น้อยของสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ประทับอยู่วังนี้จนในรัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 ประทับ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้สร้างศาลต่างประเทศกับตึกหลวงที่วังท่าเตียนบริเวณท่าเตียนในอดีต นอกจากจะเป็นที่ประทับของเจ้านายแล้ว ยังมีบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และบ้านเรือนราษฎรปลูกสร้างอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่ง ดังนั้นตึกแถวในบริเวณดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นทำเลค้าขายที่ดี ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวท่าเตียนขึ้น ใน พ.ศ. 2452 เพื่อปรับปรุงตลาดให้มีความเรียบร้อย สะอาดและมั่นคงถาวรสำหรับค้าขายสินค้า โดยสร้างตึกแถวเป็นอาคารแบบยุโรป ผังอาคารเป็นรูปตัว U มีมุขกลางทั้งสามด้านเจาะเป็นช่องโพรงเพื่อเป็นทางเข้าสู่โรงตลาดตรงกลาง ตัวอาคารรอบนอกสูง 2 ชั้น ส่วนด้านในเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวสันนิษฐานว่าใช้เป็นหน้าร้านได้อีกด้านหนึ่ง ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกับอาคารตึกแถว 2 ชั้น ยาวเลียบแม่น้ำ จำนวน 26 ห้อง ตัวอาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค ฐานรากอาคารทำจากเสาเข็มไม้และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กประกอบเป็นโครงสร้างแบบเฟอโรซีเมนต์เพื่อป้องกันไม่ให้ดินถูกกัดเซาะและป้องกันการทรุดตัวของอาคารยู  ปัจจุบันเอกชนได้เช่าอยู่อาศัยและทำการค้าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารอนุรักษ์ท่าเตียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถานตึกแถวบริเวณท่าเตียน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 113 ง หน้า 1 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2544  มีลักษณะการจัดกลุ่มเป็นอาคารพาณิชย์แถวขนาดสูง 2 ชั้น มีรูปแบบของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ ยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แบบตึกแถวล้อมรอบตลาดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก  ประดับตกแต่งอาคารตามแบบอิทธิพลศิลปะยุโรปสมัยเรอเนสซองส์ (RENAISSANCE) หลังคามุงกระเบื้องว่าว ชั้นบนของอาคารแต่ละห้องมีหน้าต่างบานคู่ เหนือขอบหน้าต่างเป็นช่องไม้ฉลุ ทาสีเขียว กรอบนอกหน้าต่างก่ออิฐถือปูนเซาะร่องเลียนแบบการก่อหิน ขอบช่วงบนทำเป็นวงโค้ง หน้าต่างทุกห้องประดับตกแต่งแบบเดียวกันตลอด

thatien12jpg thatien15

ส่วนที่ประดับตกแต่งพิเศษไปกว่าส่วนอื่น คือบริเวณที่เป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดท่าเตียน มีทั้งหมด 3 ทาง คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และ ทิศใต้ ชั้นบนซึ่งโดยปกติจะเป็นช่องหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นรูปด้านหน้าของอาคารส่วนบน หรือบริเวณหน้าจั่วแทนยอดของจั่วและมุมด้านข้างเป็นปูนปั้นรูปใบไม้ ภายในพื้นที่หน้าจั่วเป็นปูนปั้นลายวงกลมขนาบด้วยลายสามเหลี่ยมใต้จั่วลงมา (บริเวณคอสอง) ประดับปูนปั้นรูปสี่เหลี่ยม บริเวณที่เป็นทางเข้าสู่ตลาดท่าเตียนทำเป็นช่องทางเข้ารูปโค้งเกือกม้า มีเสากลมไม่เซาะร่องรองรับวงโค้ง                 

thatien5 thatien11
ก่อนการอนุรักษ์ หลังการอนุรักษ์

สภาพปัจจุบัน     
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยความร่วมมือกับผู้เช่าอาคารได้ดำเนินการฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์ บริเวณตลาดท่าเตียนจนมีสภาพสวยงามเป็นระเบียบ คงคุณค่าและความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม การคมนาคม และการท่องเที่ยว อาคารมีจำนวน 55 คูหา  ประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ – พักอาศัย ร้านค้า  

thatien13pg thatien16
thatien18

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. (2556). โครงการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์บรริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง. ค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2558, จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. เว็บไซด์ http://www.crownproperty.or.th/post

 
สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com