ชุมชนหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม

ที่ตั้ง  
ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ชุมชนแห่งนี้ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานได้ว่าในช่วงแรกๆ ของการเกิดชุมชนแห่งนี้ พื้นที่บริเวณนี้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดสุทัศน์เทพวราราม และจะให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนบริเวณดังกล่าวเช่าบ้านในราคา 18 บาทต่อเดือน ซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่ในแถบนี้ทางวัดจะเป็นผู้สร้างขึ้นเอง ต่อมาภายหลังประมาณ 70 ปีมาแล้ว จึงได้มีการยอมให้บ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าได้ โดยต้องจ่ายเงินซื้อบ้านประมาณ 80 บาท

คนที่อยู่อาศัยในชุมชนหลังวัดสุทัศน์แรกเริ่มเป็นคนจีน (แคะ) เป็นส่วนมาก อาจมาจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจีนที่อพยพมาจากประเทศของตนเอง และมาตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย ต่อมาเริ่มมีคนไทยแท้เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้กันมากขึ้น ทำให้เกิดการผสมผสานจากการแต่งงาน จนในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแทบทั้งหมด

ด้วยความที่มีทั้งคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่ร่วมกัน ความหลากหลายของประเพณีและความเชื่อจึงปรากฏให้เห็นในชุมชนนี้ ในส่วนของคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนนั้นจะมีการไหว้ผีหรือไหว้เจ้า พิธีเชงเม้ง และตรุษจีนที่นิยมไหว้กันในตอนกลางคืน ตามเทศกาลหรือขนบธรรมเนียมของชาวจีน สำหรับคนไทยยังคงนับถือศาสนาพุทธอยู่เช่นเดิม โดยมีวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นศาสนสถานที่สำคัญของคนไทยในชุมชนแห่งนี้

ชุมชนหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม

อาชีพ
เนื่องจากชุมชนหลังวัดสุทัศน์ฯ มีคนจีนอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก อาชีพที่คนในชุมชนนิยมทำกันคือค้าขายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยร้านค้าจะมีทั้งขายของชำ บางบ้านก็จะตั้งรถเข็นหน้าบ้านของตนเองเพื่อขายอาหาร สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบกิจการคือคนในชุมชนเป็นหลัก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม / ศิลปกรรมที่สำคัญ
บ้านในชุมชนแห่งนี้ยังคงความเก่าแก่ของรูปแบบและสภาพของบ้านแต่เดิมไว้ได้ โดยลักษณะบ้านส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างนิยมใช้ในการค้าขายหรือบางบ้านก็เป็นที่สำหรับเก็บหรือวางของใช้ต่างๆ แต่ก็พบว่ามีบ้านอีกหลายหลังที่ได้รับการต่อเติมหรือถูกแปรสภาพเป็นบ้านที่ทำจากปูนแล้ว

นอกจากบ้านเรือนแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปกรรมที่โดดเด่นได้ ซึ่งจะตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับชุมชน เช่น วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งนอกจากตัววัดแล้ว ภายในวัดยังมีรูปปั้นทั้งพระพุทธรูปแบบต่างๆ และรูปปั้นที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบจีนปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน, โรงเรียนภารตวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่สะท้อนภาพศิลปะแบบศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู จะเห็นได้จากรูปทรงของอาคารเรียน และส่วนต่างๆ ภายในโรงเรียนอีกด้วย

บรรณานุกรม
สัมภาษณ์นางขวัญเรือน มหัสทนานุสรณ์ อายุ 49 ปี วันที่ 25 กรกฎาคม 2547

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com