เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ชื่อราชการ เทวสถาน

ที่ตั้ง เลขที่ 268 ถนนดินสอ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติความเป็นมา

       ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างพระนครขึ้นทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชมณเฑียรขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานสำหรับพระนครและเสาชิงช้า เมื่อวันพุธเดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ พ.ศ. 2327 ให้มีพระราชพิธีตรียัมปวายโล้ชิงช้าขึ้น เป็นการขอพรเทพเจ้าให้ประเทศมีความมั่นคงและอุดมสมบูรณ์ พราหมณ์ที่ประกอบพิธีทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นมาจากพัทลุง นครศรีธรรมราช และทรงให้พราหมณ์เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นมหาราชครูประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ สืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

       บริเวณหน้าเทวสถานพระอิศวร มีซุ้มจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระพรหม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514 บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2524 การบูรณะเทวสถานได้ซ่อมแซมมาแล้ว 2 ครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งแรก พระมหาราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) ได้ซ่อมหลังคาเทวสถานที่ 3 หลัง ครั้งที่ 2 พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) ทำการซ่อมบูรณะเทวสถานทั้ง 3 หลังในพ.ศ. 2514 และขอพระราชทานนามหอเวทวิทยาคม ซึ่งเป็นอาคารหอเวทในพระบรมมหาราชวังที่ถูกรื้อไป จึงนำมาสร้างขึ้นใหม่ภายในบริเวณโบสถ์พราหมณ์ ทางด้านหลังของเทวสถาน การก่อสร้างสำเร็จเฉพาะพื้นฐานเพราะเงินที่ได้รับบริจาคหมดลง ดังนั้นโครงการในอนาคตของเทวสถานคือ การสร้างหอเวทวิทยาคมนี้ให้สำเร็จ เพื่อจัดเป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาทางด้านศาสนาต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ และจะดำเนินการขอพระราชทานที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ทางด้านหน้าของเทวสถาน (ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์พักอาศัย) เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะซึ่งจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อเสริมความสง่างามของเทวสถาน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

       1. เทวสถานพระอิศวร ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่มผืนผ้า มีประตูทางเข้าด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ภายในเทวสถานมีเสาเหลี่ยมลอยตัว จำนวนเสาด้านสกัดด้านละ 4 ต้น ด้านแปด้านละ 6 ต้น

       เทวสถานก่ออิฐถือปูนยกพื้นเล็กน้อย หลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 2 ตับ ๆ ล่างเป็นปีกนกรอบมุงกระเบื้องเกล็ด ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นพระอิศวรประทับภายในวิมาน ณ เขาพระสุเมรุ มีโคนนทิพาหนะพระอิศวรอยู่ด้วย ส่วนหน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลายไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ประตูหน้าต่างล่องชาด ฐานปัทม์ พื้นหินขัด ภายในเทวสถานไม่มีการตกแต่งด้วยลวดลายใด ๆ เว้นแต่เพดานีลายดาวเพดาน ภายในเทวสถานได้กั้นเป็นห้องทำงานของพราหมณ์ผู้ดูแล ด้านหน้าเทวสถานพระอิศวรมีซุ้มจตุรมุขประดับกระจกสีปิดทองภายในประดิษฐานเทวรูปพระพรหมซึ่งเป็นรูปหล่อโลหะปิดทอง

       2. เทวสถานพระพิฆเณศร์ ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพาไลด้านหน้าและหลัง เสาพาไลมีด้านละ 4 ต้น เป็นเสาสี่เหลี่ยมปลายเสาไม่มีลวดลาย พนักระเบียงก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้นอ 2 ชั้น มี 2 ตับ มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดหน้าบันไม่มีปรากฏลวดลายใด ๆ ไม่มีซุ้มประตู หน้าต่างประตู หน้าต่างไม่มีลวดลาย ฐานปัทม์เพดานภายในเทวสถานมีลายดาวเพดาน

       3. เทวสถานพระนารายณ์ ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพาไลด้าหน้าและหลัง เสาพาไลมีด้านละ 4 ต้น เป็นเสาสี่เหลี่ยมปลายเสาไม่มีลวดลาย พนักระเบียงก่ออิฐถือปูน บันไดทางขึ้นระเบียงอยู่ด้านข้างของเทวสถาน จำนวนด้านละ 2 บันได แต่ปัจจุบันทางขึ้นด้านหลังหมดสภาพการใช้งาน เพราะได้กั้นเป็นห้องพักอาศัยของพราหมณ์ ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 1 ประตู ผนังด้านแปมีหน้าต่าง 2 ช่อง อีกด้านหนึ่งมีหน้าต่างและประตูอย่างละ 1 ช่อง ส่วนด้านหลังไม่มีประตู

       เทวสถานพระนารายณ์เป็นเทวสถานก่ออิฐถือปูนหลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 2 ตับ มุงด้วยกระเบื้องเกล็ด ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม่มีลวดลายใด ๆ ฐานปัทม์ พื้นหินขัดประตูหน้าต่างไม่มีลวดลายเช่นเดียวกันภายในเทวสถาน เว้นแต่เพดานมีลายดาวเพดาน

 

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com