ตึกแถวถนนแพร่งนรา ถนนแพร่งภูธร และถนนแพร่งสรรพศาสตร์

 

 

 
ประวัติความเป็นมา

ถนนแพร่งนรา ชื่อถนนมาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ “ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายวรวรรณษกร ต้นราชสกุลวรวรรณ ณ อยุธยา เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเขียน ทรงรับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ ตำแหน่งรองเสนาบดี ประทับ ณ วัง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้นริมถนนตะนาว มีอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ขณะประทับ ณ วังนี้ โปรดให้สร้างโรงละครขึ้นชื่อโรงละครปรีดาลัย แสดงละครร้องนับเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของไทย ในครั้งนั้นสันนิษฐานว่า โปรดให้ตัดถนนผ่านกลางวังพร้อมกับสร้างตึกแถว สองข้าง คนทั่วไปจึงเรียกถนนตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งนรา “

ถนนแพร่งภูธร ชื่อถนนมาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์“ ซึ่งมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายทวีถวัลยลาภ ต้นราชสกุลทวีวงศ์ เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงรับราชการตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ประทับ ณ วัง บริเวณริมถนนหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้าริมถนนบ้านตะนาว ครั้นกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2440 หม่อมเจ้าในกรมได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวและตัดถนนผ่านบริเวณวังเรียก ชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งภูธร”

ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ชื่อถนนมาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ“ พระนามเดิมคือพระองค์เจ้าชายทองแถม ถวัลยวงศ์ ต้นราชสกุลทองแถม เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงรับราชการตำแหน่งกรมช่วยมหาดเล็กเป็นผู้บังคับการกรม ประทับ ณ วังริมถนนบ้านตะนาว ในอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจสิ้นพระชนม์ ทายาทได้ขายพื้นที่ตั้งวังให้กับรัชกาลที่  5 ตัววังถูกรื้อสร้างอาคารพานิชย์และตัดถนนผ่าน ถนนผ่านบริเวณวังเรียกชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งสรรพศาสตร์”

ตึกแถวถนนแพร่งนรา

ที่ตั้ง
ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ตึกแถวสองฟากถนนแพร่งนรา แต่เดิมเคยเป็นบริเวณวังเก่าของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2437 กรมพระนราฯ ทรงตัดถนนแพร่งนราผ่านกลางวัง และสร้างตึกแถวขึ้นที่สองฟากถนนแพร่งนรา ตึกแถวถนนแพร่งนรานี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป เนื่องในสมัยรัชกาล ที่ 5 นั้น ศิลปะการก่อสร้างแบบตะวันตกนั้นได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย นอกจากอาคารตึกแถวแล้วในสมัยนั้นยังได้มีการสร้างโรงละครของกรมพระนราฯ ชื่อโรงละครปรีดาลัยที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือแต่เพียงอาคารตึกแถวบางส่วนของวังกรมพระนราฯ ในพื้นที่นี้เท่านั้น  



 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ผนังตึกเรียบ บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม 6 บานพับได้ ซุ้มประตูรูปโค้งแบบตะวันตก  มีปูนปั้นเป็นซุ้มประตูโค้งอยู่ด้านบนประตู ตกแต่งผนังด้วยเสาอิงทรงเหลี่ยมคั่นแต่ละคูหา และมีแนวกันสาดคลุมทางเท้าเป็นแนวยาวด้านหน้าอาคาร ชั้นบนเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน บานเปิดคู่ ด้านบนหน้าต่างเป็นปูนปั้นซุ้มโค้ง รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีลักษณะอาคารเรียบง่าย และลวดลายปูนปั้นที่ประดับตกแต่งนั้นน้อยกว่าอาคารตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง  

 


ตึกแถวถนนแพร่งภูธร 

ที่ตั้ง   
ริมถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ตึกแถวถนนแพร่งภูธรนั้นสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แพร่งภูธรจรดถนน 3 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่ ถนนอัษฎางค์  ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว เดิมเป็นที่ตั้งของวังริมสะพานข้างโรงสี เรียกกันว่าวังเหนือ อยู่ทางฝั่งคลองคูเยื้องฟากตะวันออก สร้างพระราชทานกรมหมื่นสนิทนเรนทร์ ครั้นกรมหมื่นพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระราชทานเป็นวังกรมหมื่นภูธเรศ ธำรงศักดิ์ เมื่อกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ลง พระทายาทถวายขายที่วังและสิ่งปลูกสร้างแด่รัชกาลที่ 5  จึงโปรดเกล้าฯให้กรมพระคลังข้างที่รับซื้อไว้ จากนั้นจึงรื้อถอนอาคารต่างๆ ในวังลงจนหมด จัดซื้อที่ดินเพิ่มด้านถนนอัษฎางค์และด้านตะนาว แลวตัดถนนให้มีทางเข้าออกสามด้าน ตรงกลางเว้นเป็นที่ว่าง ส่วนที่เหลือสร้างเป็นตึกแถว ด้านเหนือจรดแนวตึกถนนแพร่งนรา ด้านใต้จรดตึกแถวถนนบำรุงเมือง ด้านตะวันออกจรดตึกแถวถนนตะนาว พระราชทานชื่อว่าตำบลแพร่งภูธร 

    

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว สูง 2 ชั้น ด้านกว้างค่อนข้างแคบแต่ลึกเข้าไปข้างใน เน้นพื้นที่แนวยาวมากกว่าแนวกว้าง มีโครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนักตัวอาคาร กำแพงหนา ก่ออิฐถือปูน ฉาบปูนทั้งผนังด้านในและด้านนอก ทำหน้าที่เป็นกำแพงกันไฟไปในตัว โดยยกกั้นเป็นช่วงๆ ระหว่างห้องแถว ความสูงถึงหลังคา ความยาวช่วงละ 2-3 ห้อง โครงสร้างเสาหลักของอาคารเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่เพื่อรองรับอาคารหลัก รวมทั้งโครงสร้างหลังคา แต่เดิมมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว ชั้นล่างเป็นประตูไม้บานเฟี้ยมลูกฟัก เดินปูนปั้นเหนือขอบประตูเป็นเส้นวงโค้งและช่องระบายอากาศเหนือประตู  มีแนวกันสาดเหนือประตูเป็นสังกะสีคลุมทางเท้ายาวเชื่อมต่อห้องแถวทุกห้องไปตลอดแนวอาคาร ส่วนชั้นบนเป็นหน้าต่างบานเปิดไม้แบบลูกฟักกระดานดุน มีช่องแสงเป็นไม้ฉลุช่องเล็ก ๆ ที่กันสาดมีไม้ฉลุลายที่ขอบโดยรอบ ผนังบริเวณเหนือช่องหน้าต่างมีการเจาะช่องระบายลมรูปวงกลมเป็นระยะ ๆ ระหว่างห้องแถวแต่ละห้องมีเสาปูนปั้นเซาะร่องแนวนอนไม่มีหัวเสาคั่นระหว่างห้อง อาคารตึกแถวแพร่งภูธรนี้มีลักษณะการวางผังอาคารล้อมรอบตลาดและลานสุขุมาลอนามัย


 

 

 

เมื่อพิจารณาโดยรวมจะพบว่ารูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองแพร่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยตึกแถวของแพร่งนราจะเน้นความเรียบง่ายมีความคล้ายคลึงกับตึกแถวรุ่นแรกๆ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ในบริเวณถนนบำรุงเมื่องที่มีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย ต่างจากตึกแถวแพร่งภูธรที่สร้างขึ้นภายหลังในเวลาไม่นานนัก กล่าวคือตึกแถวในแพร่งภูธรมีการประดับตกแต่งอาคารมากกว่า เช่น การฉลุช่องระบายอากาศเป็นลวดลาย ในขณะที่ตึกแถวแพร่งนราทำเป็นเพียงช่องสี่เหลี่ยมทึบ ๆ เท่านั้น แต่ก็ปรากฏลักษณะร่วมกันของสถาปัตยกรรมค่อนข้างมากในส่วนของกรอบซุ้มยอดโค้งแบน ซึ่งถือว่าตึกแถวในรัตนโกสินทร์มีความคล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากศิลปะตะวันตกที่มักจะทำประตูอาคารเป็นวงโค้ง แต่ในอาคารตึกแถวไม่ได้ทำประตูแบบวงโค้ง แต่ใช้ประตูสี่เหลี่ยมและทำกรอบโค้งแทน ซุ้มยอดประตูของตึกแถวแพร่งนราและแพร่งภูธรมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยซุ้มยอดโค้งของแพร่งนรามีลักษณะเป็นโค้งเซาะร่องคั่นเป็นจังหวะ แต่ตึกแถวแพร่งภูธรมีลักษณะของการพยายามทำเป็นซุ้มที่มีลักษณะเหมือนประตูมากกว่า ประกอบกับมีการเจาะช่องระบายอากาศเป็นวงกลมเล็กๆ ก็ยิ่งดูเหมือนซุ้มกรอบประตูมากขึ้น เป็นกรบอประตูที่มีเพียงด้านบนส่วนด้านล่างใช้กรอบประตูจริง ต่างจากแพร่งนราที่ทำซุ้มโค้งครอบกรอบประไว้ทั้งหมด  ลักษณะที่มีร่วมกันของสถาปัตยกรรมตึกแถวแพร่งนราและแพร่งภูธรคือการทำกันสาดยาวต่อเนื่องกันทำให้เกิดทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร    

สถาปัตยกรรมแพร่งสรรพศาสตร์

ที่ตั้ง
ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
DSC00665ป็นพื้นที่ส่วนที่มีความสำคัญในแง่เคยเป็นที่ตั้งของพระราชงวังเดิม คือ แพร่งสรรพศาสตร์ แต่ปัจจุบันไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่ ตำหนักเดิมนั้นกล่าวกันว่าเป็นตำหนักที่มีขนาดใหญ่โตมาก ประตูทางเข้าเป็นประตูบานใหญ่คล้ายว่ามีสามช่อง พื้นเป็นมันเข้าใจว่าปูด้วยหินอ่อนตั้งแต่ทางเข้าวังไปจนถึงตัวตำหนักเดิมโดยแบ่งเป็นสองตอน พวกฝรั่งและช่างทองในสมัยนั้นพักอยู่ในตอนแรกของวัง ส่วนตอนที่สองซึ่งเป็นเขตวังนั้นเป็นสวนและมีคูน้ำปลูกบัวไปจนถึงตัวตำหนัก มีเรือนไม้ปลูกเรียงเป็นระยะเข้าไปสองสามหลัง ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงประตูวังให้เห็นอยู่บนแพร่งสรรพศาสตร์เท่านั้น และเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญที่เป็นที่นับถือของชุมชนและสังคมเมือง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเสือ และศาลเจ้าพ่อครุฑ ปัจจุบันพื้นที่ถูกใช้เป็นพื้นทีพักอาศัยเป็นส่วนน้อยและพาณิชยกรรมเป็นส่วนมาก มีรูปแบบที่อยู่อาศัยเป็นตึกแถวขนาดกลาง-สูง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์
ลักษณะการก่อสร้างซุ้มประตูนี้เป็นการก่ออิฐฉาบปูนไม่ใช้เหล็กเสริม มีไม้ซุงขนาดใหญ่เป็นคานขนาดใหญ่ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ช่องประตูกว้างใหญ่สูงขนาดตึก 2 ชั้น ซุ้มกรอบประตูรูปโค้งกลม หรือ Arch (ลักษณะของสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส) ประดับปูนปั้นที่กึ่งกลางมีเสานูนเหนือเสา 2 ข้าง อีกชั้นหนึ่งแต่งเป็นรูปอิฐก้อนใหญ่ เหนือวงโค้งนั้นมีหน้าบันเจาะไว้เป็นวงกลม ในวงกลมนั้นมีประติมากรรมรูปหล่อเทพธิดากรีกขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่ในท่ายืนถือคบไฟ สองข้างประติมากรรมชิ้นนี้แบ่งเป็นช่อง กรุด้วยกระจกหลากสีเป็นแฉกครึ่งวงกลม ด้านข้างและด้านหลังเสาซุ้มก่ออิฐเป็นปีกสอบเข้าตอนบน ประตูแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยเฉพาะส่วนเสาค้ำยันด้านล่าง อีกทั้งมีการก่อสร้างอิฐเรียงค้ำยันเพื่อพยุงน้ำหนักของด้านบนกันล้มเพิ่มเติมไว้ทั้งสองข้าง โดยภายในด้านข้างจะมีคำจารึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประตูวังแห่งนี้อย่างคร่าวๆ

ตึกแถวแพร่งสรรพศาสตร์
แต่เดิมเป็นตึกแถวที่มีลักษณะพิเศษกว่าตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง คือมีรูปร่างเพรียวๆ ชายคามีกระเบื้องยื่นออกมาทำเป็นขอบซีเมนต์ยาวตลอด มีเสาซีเมนต์โตขนาดลำแขน สูงประมาณ 12-13 นิ้ว ตั้งเรียงเป็นแถวในช่วงห้องหนึ่ง ๆ ราว 4-5 เสา หัาเสาเป็นเหมือนบัวตูมเท่ากันเป็นที่กำหนดขนาดห้อง เวลามองขึ้นไปไม่เห็นกระเบื้องทำให้ดูงดงาม แต่ตึกแถวบริเวณแพร่งสรรพศาสตร์ที่ปรากฎในปัจจุบันส่วนมากเป็นตึกแถวืี่สร้างขึ้นใหม่ เพราะตึกแถวเดิมถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ได้เผาผลาญตึกแถวแบบเก่าจนหมดสิ้นไป

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.
ฐานิศวร์ เจริญพงศ์.
 รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์. รุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
วรรณพา แก้วมณฑา. (2556). ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านงานสถาปัตยกรรมย่านชุมชนสามแพร่ง. การศึกษาเฉพาะบุคคลในประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ย่านการค้า "ตะวันตก" แห่งแรกของกรุงเทพฯ : สามแพร่ง แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com