ชุมชนบางลำพู

ที่ตั้ง
บางลำพูเป็นถิ่นที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เพราะเป็นย่านตลาดการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ด้านเหนือติดถนนจักรพงษ์ซึ่งต่อกับถนนสามเสน โดยมีสะพานนรรัตนสถานข้ามคลองบางลำพู ถนนสิบสามห้าง และถนนวัดบวร ด้านตะวันออกติดกับถนนพระสุเมรุ คือ แนวที่เห็นเป็นสายยาวผ่านลงมาหน้าวัดบวรนิเวศ ด้านตะวันตกติดถนนตานีซึ่งติดกับถนนตะนาว

ประวัติ
แต่ในสมัยก่อนยังเป็นทุ่งนาวัดชนะสงครามก็มีชื่อเก่าว่า “ วัดกลางนา” ส่อให้เห็นว่าชาวบ้านเรียกตามสภาพที่เป็นวัดอยู่กลางทุ่งกลางนา อีกอย่างหนึ่งในสมัยโบราณบริเวณนั้นจะเป็นบ้านคนมอญอยู่กันมากจึงได้สร้างวัดนี้ขึ้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดตองปุ” ต่อมารัชกาลที่ 1 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เหตุที่จะเรียกว่าตำบลบางลำพู (แต่เดิมเขียนบางลำภู) เข้าใจว่าจะมีต้นลำพูมาก ในหนังสือนิราศโบราณจะกล่าวถึงต้นลำพู แม้วัดสังเวชวิศยารามก็มีชื่อเดิมว่า วัดบางลำพูมาก่อน

บางลำพูเริ่มเจริญขึ้นเมื่อตัดถนนจักรพงษ์ต่อจากถนนเจ้าฟ้าขึ้นไปถึงสะพานนรรัตนสถาน และตัดถนนสามเสนต่อจากสะพานนรรัตนสถานขึ้นไปจนถึงถนนนครไชยศรี ทำให้มีบ้านเรือนสองฝั่งถนนมากขึ้น และเมื่อมีผู้คนก็มีตลาดตามมา ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่าตลาดบางลำพูหรือตลาดยอด  ย่านบางลำพูนี้เข้าใจว่าจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในตอนต้นรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้บางลำพูเสียหายมากมาย ปรากฎตามจดหมายเหตุของพระยาทิพโกษา (สอน) กล่าว่า วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2412 เวลาเกือบบ่ายโมง ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงทำขนมจีน ถนนสิบสามห้าง เวลานั้นลมพัดจัด น้ำในคลองบางลำภูก็แห้ง เพลิงลุกลามข้ามกำแพงพระนครไหม้เลียบกำแพง และริมคลองบางลำพูไปถึงสะพานข้ามคลอง แล้วไหม้ข้ามคลองไปข้างวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ไหม้บ้านช้อนหอยทัพพี วัดสังเวชวิศยาราม บ้านบุหลังวัด แล้วไหม้เฉียงตลอดลงไปตกแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนทางริมกำแพงพระนครเพลิงไหม้เลียบริมกำแพง และริมคลองบางลำพูไปจนถึงหน้าวัดสังเวชวิศยารามจึงหยุด

banglumpu02 banglumpu04

สภาพทั่วไปย่านบางลำพูในปัจจุบัน
ปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นศูนย์กลางการค้าหลายชนิด ทั้งผ้า เสี้อผ้าและอาหาร มีทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่ในอาคารตึกเก่าบางลำพู และร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมถนนสิบสามห้าง ถนนบวรนิเวศ ถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ นอกจากนี้ย่านบางลำพูยังมีชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่เก่ากว่าร้อยปี เป็นแหล่งเรียนบรรเลงดนตรี ขับร้อง การแสดง การละเล่น และการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย รวมทั้งสถานที่นัดพบในการทำกิจกรรมและฝึกซ้อมดนตรีไทยของกลุ่มนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเช่น เขียววิจิตร ดุริยพันธุ์ บ้านดุริยประณีตฯลฯ

ถนนข้าวสาร
ถนนข้าวสาร เป็นบริเวณใกล้เคียงกับบางลำพู ซึ่งเรียกว่าถิ่นขุนนางเดิม คือ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาข้าราชบริภารในวังหน้า (กรมพระราชวังบวร) ที่ทำงานช่างวังหน้าและช่างฝีมือของโรงกษาปณ์เป็นส่วนใหญ่ มีฐานะดีถึงปานกลาง บริเวณใกล้เคียงแต่เดิมเป็นชุมชนมอญ มีเรือนแถวแห่งแรกของประเทศไทยที่ริมถนนตะนาว ซึ่งถนนข้าวสารยังมิได้มีบทบาทชัดเจนมากนัก

ชุมชนบางลำพู ชุมชนบางลำพู


เมื่อความเจริญเติบโตแบบตะวันตกเริ่มมีมากขึ้น ทำให้มีการวางผังเมืองเลียนแบบตะวันตกในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีการตัดถนนราชดำเนินจากสนามหลวง (ทุ่งพระสุเมรุ) ถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นถนนสายหลัก เช่นเดียวกับถนนชองเอดิเซ่ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตัดผ่านชุมชนในถนนตะนาว ถนนดินสอ มีการสร้างตึกถนน ทำให้ถนนใกล้เคียงต้องเถิบออกไป มีการวางผังอย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น

บริเวณบางลำพูและถนนข้าวสารก็ยังคงเป็นที่อยู่ของข้าราชบริภารและข้าราชการอยู่ ชาวมอญเริ่มลดน้องลง อาชีพหลักของคนย่านนี้ก็สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ทำงานโรงกษาปณ์ งานฝีมือ งานช่าง มีร้านค้าที่สำคัญเป็นร้านสังฆภัณฑ์ที่โด่งดังมากคือ ร้านส.ธรรมภักดี สินค้าที่บริเวณนี้ขายคือข้าวสาร ซึ่งคนขายเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ จึงเรียกว่า “ตรอกข้าวสาร” จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บริเวณบางลำพูเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญสามอย่างคือ สมาคมสหายสงคราม โรงเรียนราษฎร์ของลูกหลานข้าราชการ และโรงพิมพ์ ก่อนจะย้ายออกไปนอกเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นการผลักย่านชุมชนให้เถิบออกไปติดกับย่านบางลำพูมากขึ้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง องค์กรของรัฐเริ่มมีการลดจำนวนบุคลากร ให้ความสำคัญของประชาชนเท่าเทียมกับบรรดาข้าราชบริภารและข้าราชการ ข้าราชบริภารจำนวนมากถูกปลดออก ข้าราชบริภารส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบางลำภูก็ย้ายที่พักไปอยู่ชานเมืองแถบสุขุมวิทและฝั่งธนฯ เป็นต้น จากเดิมที่เคยเป็นย่านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวก็เปลี่ยนไปเป็นอาคารเพื่อการค้า อีกทั้งมีการขยายตัวทางสาธารณูปโภคมากขึ้น การหลั่งไหลเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก รูปแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยจึงพัฒนามาเป็นแบบกึ่งพาณิชย์ ย่านบางลำพูเริ่มมีการผ่องถ่ายทรัพย์สมบัติของบรรดาข้าราชการ คหบดี ย้ายไปอยู่ชานเมือง (ชานเมืองสมัยนั้นคือแถบฝั่งธนฯ เป็นต้น) ที่ดินเปลี่ยนมือไปเป็นของพ่อค้าชาวจีนที่มีความถนัดทางการค้า ชาวจีนนำรูปแบบตึกแถวมาประยุกต์ใช้เป็นอาคารพาณิชย์ ในยุคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นแบบการค้ามากขึ้น อย่างเช่นบริเวณสิบสามห้าง

ในช่วงสงครามเวียดนามเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ถนนข้าวสารมีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เมืองไทยเป็นประเทศร่วมรบกับสหรัฐอเมริการ เป็นฐานทัพส่งกำลังบำรุงของกองทัพอเมริกัน เวลาจะสับเปลี่ยนกำลังพลก็จะทำในประเทศไทย เพราะมีฐานทัพอเมริกัน เช่น ที่อู่ตะเพา เมื่ออเมริกันชนเข้ามามากขึ้น วิถีชีวิตยังคงเป็นแบบตะวันตกอยู่ ไม่รู้ชะตาชีวิตข้างหน้า จึงนิยมเรื่องการเสพสุข จะตายเมื่อไรไม่รู้ในยามที่ไปรบ คนอเมริกันที่มาพักในกรุงเทพฯ ย่านหนึ่งที่ทำการค้ากับชาวต่างชาติคือ บางลำพู บริเวณถนนข้าวสาร ซึ่งจะเห็นเด่นชัดคือ ชาวจีนกั้นห้องให้เช่า ในตึกแถวที่ทำการค้าขายมีโสเภณี บาร์เหล้าบริการท่องเที่ยว เศรษฐกิจเฟื่องฟูด้วยเงินดอลล่าร์ เกิดสถาปัตยกรรมรองรับกิจกรรมดังกล่าว

ภายหลังสงครามสิ้นสุด ทหารผ่านศึกส่วนหนึ่งได้กลับมาที่ประเทศไทย เช่น พวกทหารที่มีภรรยาเป็นคนไทยก็แวะมาที่ถนนข้าวสาร แต่เดิมคนที่มาประเทศไทยเป็นชนชั้นสูงและนำเงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก ส่วนพวกที่เรียกตนเองว่าบุปผาชน (ฮิปปี้) อาจมีเงินใช้จ่ายน้อยกว่าก็สามารถมาอยู่เมืองไทยในระยะเวลาเท่ากัน ดังนั้นที่อยู่อาศัยราคาถูกจึงเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ อีกทั้งย่านนี้อยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในกรุงเทพฯ (ใจกลางเมืองในสมัยนั้นคือ เกาะรัตนโกสินทร์) ย่านบางลำพู จึงมีการซอยห้องให้เช่า หรือที่เรียกว่า “เกสท์เฮาส์” ซึ่งทำให้มีกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยวมากขึ้นไปด้วย

หมายเหตุ
กิตติศักดิ์ พานเจริญชับโรจน์ . ถนนข้าวสาร. สารนิพนธ์ สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิ   ลปากร ปีการศึกษา 2544.
ปราณี กล่ำส้ม. วันวานที่ย่านบางลำพู. เมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2537

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com