ชุมชนหลังวัดราชนัดดา

ชุมชนหลังวัดราชนัดดาที่ตั้ง 
ชุมชนหลังวัดราชนัดดา ตั้งอยู่ในแขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับธนาคารทหารไทย
ทิศใต้ ติดกับคลองวัดเทพธิดา
ทิศตะวันออก ติดกับวัดราชนัดดา
ทิศตะวันตก ติดกับถนนดินสอ

ประวัติ
เดิมสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ สร้างวัดราชนัดดาพระราชทานแก่พระเจ้าหลานเธอหม่อมเจ้าหญิงโสมนัสนัสวัฒนาวดี ซึ่งต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอุโบสถ สร้างแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้พระราชทานที่ดินบริเวณวัดราชนัดดาให้ข้าราชการ บริพารอยู่อาศัยและเป็นชุมชนที่เก่าแก่ชุมชนหนึ่งมีอายุมากว่า 80 ปี ชุมชนหลังวัดราชนัดดา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน มีสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์สำคัญของกรุงเทพมหานคร เช่น บ้านเก่าอายุกว่า 150 ปี วัดสมัยรัชกาลที่ 3 ฯลฯ รวมถึงสภาพวิถีชีวิตด้านอาชีพดั้งเดิม ปัจจุบันมีชาวชุมชนอาศัยอยู่ 183 หลังคาเรือน โดยเป็นที่ตนเอง 120 หลัง เช่าที่ทรัพย์สิน 36 หลัง และที่วัด 17 หลัง มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงกายภาพชุมชนภายนอก แต่ยังคงมีการอนุรักษ์บ้านเก่าภายในชุมชน

สภาพโดยทั่วไปชุมชนหลังวัดราชนัดดา
ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย ร้านค้าในตลาดและรับราชการตามลำดับ มีกิจกรรมประเพณี ปีใหม่ สงกรานต์
วันเด็ก ทำบุญเลี้ยงพระ ลักษณะการครอบครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นที่ของตนเอง จำนวน 120 หลัง สภาพบ้านเรือนมีตั้งแต่บ้านไม้สองชั้น บ้านตึก และอื่น ๆ บางบ้านยังคงสภาพดั้งเดิม (กว่า 80 ปี) จำนวน 4-5 หลัง บางส่วนมีการปรับปรุงใหม่ กระบวนการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ในชุมชน พบว่าชุมชนมีกลุ่มกิจกรรมหลายกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน (1 ล้านบาท) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และคณะกรรมการชุมชน จากการสนับสนุนของสำนักงานเขตพระนครเป็นหลัก และจากการพัฒนาเมืองภายนอกอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนสภาพกายภาพชุมชนในลักษณะทันสมัยมากขึ้น 

ประเพณีและของดีของชุมชน
1. เป็นที่ตั้งของวัดราชนัดดารามวรวิหาร (วัดราชนัดดา) เป็นวัดสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ  ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างบนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ เพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ซึ่งภายหลังเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 4) โดยทั้งสองพระองค์เสด็จวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2389 จุดเด่นของวัดราชนัดดาที่ประชาชนมองเห็นได้ทั่วไปเมื่อผ่านมาทางถนนพระราชดำเนิน คือ โลหะปราสาท ซึ่งสร้างโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2389 เนื่องจากทรงมีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงทราบว่าในสมัยโบราณมีการสร้างโลหะปราสาทเพียง 2 ครั้งในโลก คือ หลังแรกนางวิสาขา แห่งเมืองสาวัตถี สร้างยอดปราสาททำด้วยทองคำ หลังที่สอง พระเจ้าทุฏฐคามณี แห่งกรุงอนุราธปุระ ลังกา ทรงสร้างเมื่อราว พ.ศ. 382 หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างโลหะปราสาทเพื่อเป็นเกียรติแก่พระนครแทนการสร้างพระเจดีย์เช่นพระอารามอื่น นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก โดยสร้างเป็นปราสาทสูง 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ และพระอุโบสถเป็นแบบไทย คือ มีช่อฟ้า ใบระกา ต่างจากวัดเทพธิดารามซึ่งสร้างแบบจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเสฏฐตมมุนีซึ่งโปรดให้หล่อด้วยทองแดง จากตำบลจันทึก เมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2389 ฝาผนังเขียนลายเทพชุมนุมกับดาวดาราศาสตร์

2. เป็นตลาดเช่าพระที่มีชื่อเสียง

บรรณานุกรม
ข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากการสัมภาษณ์ นายวิชา นาคสัมปุรณะ (เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2547)
นาอีฟ. “ วัดราชนัดดารามโลหะปราสาท 1 ใน 3 ของโลก” เบสต์ดีซายน์. 2, 20 (Mar. 1997) : 78-82.
น้ำดอกไม้. “ โลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร = Loha Prasat and Wat Ratchanatdaram” กินรี 19, 5 ( พ.ค. 2545) : หน้า 56-60.
สมบัติ พลายน้อย. “วัดราชนัดดา ผ่านฟ้าลีลาศ” ศิลปวัฒนธรรม 21, 6 ( เม.ย. 2543) : หน้า 88

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com