ตึกแถวซอยสะพานพุทธ

ชื่อราชการ
ตึกแถวเชิงสะพานพุทธด้านโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ( เดิม )

ที่ตั้ง
เลขที่ 2 , 8 – 22 , 30 – 48 , 116 – 174 , 348 – 388 และ 557 – 567 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

สร้าง 
สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

อาณาเขต  
ทิศเหนือ จรด ถนนจักรเพชร  
ทิศใต้ จรด ตลาดลาดสดแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก จรด ซอยสะพานพุทธ
ทิศตะวันตก จรด ถนนอัษฏางค์

ประวัติความเป็นมา
ตึกแถวบริเวณซอยท่าโรงยาเก่า ( ถนนบ้านหม้อ )และถนนจักรเพชรค่อนไปทางถนนอัษฎางค์ มีลักษณะอาคารแถวเหมือนกัน สันนิษฐานว่าสร้างในสมันรัชกาลที่ 5 กล่าวคือร้านขายยาแผนโบราณแม่เลื่อนเป็นร้านขายยาเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันยังคงตั้งอยู่บริเวณปากคลองตลาด โดยมีลูกหลานทำอาชีพนั้นต่อมา ตึกแถวนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มิได้รับการบำรุงรักษาจึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนตึกแถวริมถนนจักรเพชรด้านซอยสะพานพุทธยังคงสง่างามและแข็งแรงกว่าด้วยเหตุที่สร้างมาในชั้นหลัง คือสันนิษฐานว่าประมาณรัชกาลที่ 7 ด้วยการเตรียมภาพถ่ายสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี บริเวณเชิงสะพานพุทธด้านฝั่งพระนครจะเห็นตึกแถวริมซอยสะพานพุทธอย่างชัดเจน ปัจจุบันยังคงลักษณะเดิม เปลี่ยนแปลงเฉพาะชั้นล่างตามสภาพการประกอบอาชีพและเดิมตึกแถวช่วงนี้เป็นของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์ – พักอาศัยเอกชน เดิมบริเวณตึกแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยและเป็นร้านค้าที่ขายของสวน มาจากฝั่งธนฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคม ตึกแถวดังกล่าวไม่มีลักษณะหรูหรา แต่เป็นแบบเรียบง่าย ต่างกับตึกแถวถนนบำรุงเมืองและเฟื่องนคร ที่เป็นของแขก ฝรั่ง หรือจีน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ     
ตึกแถวเชิงสะพานพุทธด้านโรงภาพยนต์เอ็มไพร์มีลักษณะแตกต่างกันตามสมัยที่สร้างแบ่งเป็นสองประเภทคือ ตึกแถวที่สร้างในรัชกาลที่ 5 เป็นก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ยกเว้นห้องตามหัวมุมจะสูง 3 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ชั้นล่างจะมีกันสาดคลุมตลอดทางเดิน หน้าต่างมีลายปูนปั้นประดับเล็กน้อย มีช่องลมเหนือช่องหน้าต่างแต่ละช่อง ตึกแถวที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นตึกสูง 3 ชั้น ปัจจุบันได้มีการต่อเติมสูงกว่านั้น เติมหลังคามีขอบดาดฟ้าก่ออิฐถือปูนเป็นคล้ายกำแพงเตี้ยๆตรงโค้งมุมถนนจะมีการตกแต่งพิเศษกว่าส่วนอื่น คือชั้นบนสุดจะมีกระถางปูนปั้นประดับและชั้นที่ 3 จะมีระเบียง หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ดบานกระทุ้ง

สภาพปัจจุบัน   
ากการสำรวจการใช้ที่ดินของตึกแถวบริเวณเชิงสะพานพุทธเป็นตึกแถวที่คงลักษณะเดิมเมื่อแรกสร้าง 80 ห้อง เป็นอาคารสูง 2 และ 3 ชั้น แบ่งเป็นประเภทอาคารได้ดังนี้ คือ อาคารพักอาศัย และห้องอาคารพาณิชย์ – พักอาศัย  ซึ่ง แบ่งเป็น ขายปลีก  ขายส่ง  ประกอบวิชาชีพ  โกดังเก็บสินค้า 

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่  1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com