ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ที่ตั้ง

       ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสนามหลวง ทิศเหนือติดกับศาลฎีกา โดยมีถนนหน้าหับเผยคั่นอยู่ ทิศใต้ติดกับกระทรวงกลาโหม มีถนนหลักเมืองตัดผ่าน ทิศตะวันตกติดกับถนนราชดำเนิน และทิศตะวันออกติดกับสำนักงานอัยการสูงสุด มีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 15 ตารางวา

ความเป็นมา

       ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเป็นอาคารที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นสถานที่สำหรับใช้ประดิษฐานเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการสร้างอาคารจึงต้องเหมาะสมกับสิ่งที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาคารแห่งนี้จึงโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารศาลหลักเมืองให้มีความเหมาะสม โดยมีรูปแบบเป็นอาคารจตุรมุขทรงปราสาทยอดปรางค์ ซึ่งการสร้างเป็นอาคารทรงปราสาทแสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญเป็นอย่างสูง โดยรูปแบบอาคารศาลหลักเมืองในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นแบบให้กับการออกแบบศาลหลักเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครสร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นช่วงเวลาที่สร้างพระนครขึ้นมาใหม่ในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีการสร้างหลักเมืองขึ้นตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง โดยได้ทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 จากนั้นได้พระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินทร์อโยธยา" ต่อมาก็เรียกกันว่ากรุงเทพมหานคร

รูปแบบทางสถาปัตยกรรม

       อาคารศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูน ส่วนยอดของอาคารที่ต่อจากหลังคาเป็นอาคารจำลองซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป และต่อด้วยยอดปรางค์ ซึ่งอาคารที่มีการซ้อนชั้นแบบนี้เรียกว่า อาคารทรงปราสาท เนื่องด้วยอาคารศาลหลักเมืองใช้สำหรับประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง การออกแบบอาคารที่มีลักษณะเป็นอาคารทรงปราสาทจึงมีความเหมาะสมกับเสาหลักเมืองที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับคำสั่งจากพระมหากษัตริย์ให้ออกแบบขึ้น โดยรูปแบบภายนอกของอาคารศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีลักษณะดังนี้

ส่วนฐาน มีลักษณะเป็นฐานปัทม์ มีความสูงไม่มากนัก

ส่วนเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นจตุรมุข มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ด้านในของเรือนธาตุต่ำกว่าส่วนฐาน จึงมีการทำบันไดลงไปยังพื้นที่ภายใน โดยสัดส่วนของเรือนธาตุมีความสูงไม่มากเมื่อเทียบกับส่วนยอด

ส่วนยอด ส่วนยอดของอาคารศาลหลักเมืองเป็นส่วนที่มีความโดดเด่นกว่าส่วนอื่น ๆ มีสัดส่วนความสูงมากกว่าส่วนเรือนธาตุ เพราะมีการซ้อนชั้นที่หลากหลาย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหลังคามุงกระเบื้องและส่วนยอดปรางค์ โดยส่วนหลังคามุงกระเบื้องมีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มีมุขต่อออกมาทั้ง 4 ด้าน และมีหลังคาปีกนกคลุมรอบอาคาร โดยวัสดุที่ใช้ทำหลังคาคือกระเบื้องดินเผาเคลือบสีด่อน (สีเทาอ่อน) หน้าบันของมุขที่ยื่นต่อออกมาและหน้าบันของหลังคาชั้นถัดมาเป็นลวดลายเถาดอกพุดตาน มีสีแดง ม่วง น้ำเงิน เหลือง ส่วนที่มีลักษณะคล้ายใบไม้เป็นสีเขียว พื้นหลังของหน้าบันทั้งสองประดับด้วยกระเบื้องสีเหลืองที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ และหน้าบันของหลังคาชั้นในสุด ประดับด้วยกระเบื้องสีเหลืองที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้เต็มพื้นที่ ที่หน้าบันทั้งสาม ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งทำจากกระเบื้องเคลือบสี โดยช่อฟ้ามีลักษณะเป็นหัวนกเจ่า และใบระกาทำเป็นลายช่อหางโต ส่วนปลายขอบของหลังคาปีกนกประดับหัวนกเจ่าทำจากกระเบื้องเคลือบสี

       ถัดขึ้นมาจากส่วนของหลังคา มุงกระเบื้อง เป็นส่วนของยอดปรางค์ ประกอบด้วยส่วนของอาคารจำลองซ้อนชั้น ย่อมุมยี่สิบ มีชั้นเชิงบาตรซ้อนลดหลั่นกันทั้งหมด 7 ชั้น จึงทำให้เป็นส่วนที่มีความสูง แต่ละชั้นประดับบรรพแถลงและนาคปัก โดยนาคปักทำจากกระเบื้องเคลือบสีด่อน (สีเทาอ่อน) ซึ่งในส่วนอาคารจำลองซ้อนชั้นนี้ไม่มีการตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสี ถัดขึ้นไปเป็นชั้นของยอดปรางค์ มีส่วนสัดความสูงเช่นเดียวกับส่วนของอาคารจำลองซ้อนชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุนและบรรพแถลง ถัดขึ้นไปส่วนยอดสุดประดับด้วยนภศูลปิดทอง

บรรณานุกรม

เบญจกาญจน์ ฐานวิเศษ. "แนวความคิดและรูปแบบของสถาปัตยกรรมทรงปราสาทที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร." สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com