ชุมชนคลองคูเมืองเดิมสามแพร่ง

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งชุมชนคลองคูเมืองเดิมแห่งนี้ถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในด้านที่ชิดกับคลองคูเมืองเดิมชั้นใน โดยพื้นที่รวมของชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่

อาณาเขต
ทิศเหนือติดกับถนนศิริอำมาตย์
ทิศใต้ติดกับถนนบำรุงเมือง
ทิศตะวันตกติดกับถนนอัษฎางค์และคลองคูเมืองเดิม
ทิศตะวันออกติดกับถนนตะนาว

ประวัติ
สามแพร่ง เป็นที่ตั้งวังของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสามพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ส่วนคำว่า "แพร่ง" นั้น แปลว่า ทางแยกทางบก ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนผ่านวังทั้งสามเพื่อเชื่อมถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์จึงเกิดเป็นทางสามแพร่ง และนำพระนามของทั้งสามพระองค์มาตั้งเป็นชื่อถนน ได้แก่ แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร

บริเวณแพร่งนราเคยเป็นบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายวรรณากรต้นราชกุลวรDSC00659วรรณ พระราชโอรสองค์ที่ 54 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเขียน ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2432 ทรงกำกับกรมพระคลังมหาสมบัติในตำแหน่งรองเสนาบดี พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ที่มีปรีชาสามารถในการประพันธ์อย่างมาก ท่านทรงเป็นผู้นิพนธ์บทละครร้องและเป็นผู้สร้างโรงละคร "ปรีดาลัย" ภายในพระราชวังของท่าน ซึ่งเป็นโรงละครร้องแห่งแรกของประเทศไทย ในยุคนั้นถือว่าละครร้องเป็นละครศิลปะแนวใหม่ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นำแบบอย่างมาจากต่างประเทศและดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของเมืองไทย ปรากฏว่าโรงละครดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยชื่อของคณะละครก็คือ "คณะละครนฤมิต" และต่อมาได้รับพระราชทานชื่อใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ว่า "ละครหลวงนฤมิต" เป็นเหตุให้ในยุคนั้นย่านนี้เป็นแหล่งแวดวงของกลุ่มสังคมชั้นสูง

ส่วนชื่อของถนน “แพร่งนรา” ก็ได้มาจากพระนามกรของพระองค์ท่านนั่นเอง พระตำหนักและตำหนักภายในวังสมัยแรกสร้างเป็นอาคารปูนผสมไม้ 3 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ภายในพระตำหนักฉลุลวดลายตามระเบียงไว้สวยงาม โดยเฉพาะทางพระตำหนักปีกขวาสามารถมองเห็นได้จากริมถนนแพร่งนรา ด้านบริเวณปีกซ้ายชั้นสองของพระตำหนักมีระเบียงฉลุไม้ลายโปร่งยื่นล้ำออกมาข้างหน้า ด้านบนระเบียงคือแนวหน้าต่างเกล็ดไม้ที่ตีฝาเป็นห้องกว้างไปจนสุดปลายระเบียง แต่เดิมห้องกว้างใหญ่นี้คือ สถานที่ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้เป็นที่ประทับชมละครที่แสดง ณ โรงละครปรีดาลัย สำหรับบริเวณด้านหน้าซุ้มประตูและกำแพงอันทอดยาวของวังใหญ่แห่งนี้ อยู่ด้านริมถนนแพร่งนราและมุมถนนบูรณศาสตร์ ด้านที่บรรจบกับแพร่งนรา มีประตูวังแทรกอยู่สองแห่งระหว่างแนวกำแพง ประตูวังสร้างเป็นซุ้มประตู หน้าบันเป็นปูนรูปจั่วแบบเก่า แต่เดิมแนวกำแพงวังยาวเกือบติดถนนอัษฎางค์ที่อยู่ด้านปลายสุดของถนนแพร่งนรา เมื่อมีการตัดถนนบูรณศาสตร์ แนวกำแพงวังจึงถูกร่นให้สั้นลงเท่าที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนั้นพื้นที่ที่เคยเป็นวังเดิม โรงเรียนตะละภัฎศึกษาได้มาขอเช่าเป็นที่ทำการศึกษา และได้ปิดทำการไปเมื่อปี พ.ศ.2538 แต่ก็ยังมีการดูแลตัวตำหนักเก่าไว้อยู่ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ

บริเวณแพร่งสรรพศาสตร์แต่เดิมเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พระนามเดิมคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ DSC0066534 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงเป็นกรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจในรัชกาลที่ 5 และทรงเลื่อนเป็นกรมหลวงฯ ในรัชกาลที่ 6 พระองค์มีความสนพระทัยในการเล่นกล้องและถ่ายภาพยนตร์เป็นคนแรกของประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไว้ส่วนใหญ่นั้นเป็นพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นแล้วทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองแถม” เมื่อครั้งทรงกำกับกรมช่างมหาดเล็กหรือที่ชาวบ้านมักเรียกในสมัยก่อนว่า “ช่างทองหลวง” ได้โปรดใช้วังนี้เป็นที่ทำราชการด้วย

ตำหนักเดิมนั้นกล่าวกันว่าเป็นตำหนักที่มีขนาดใหญ่โตมาก ประตูทางเข้าเป็นประตูบานใหญ่คล้ายว่ามีสามช่อง พื้นเป็นมันเข้าใจว่าปูด้วยหินอ่อนตั้งแต่ทางเข้าวังไปจนถึงตัวตำหนักเดิมโดยแบ่งเป็นสองตอน พวกฝรั่งและช่างทองในสมัยนั้นพักอยู่ในตอนแรกของวัง ส่วนตอนที่สองซึ่งเป็นเขตวังนั้นเป็นสวนและมีคูน้ำปลูกบัวไปจนถึงตัวตำหนัก  มีเรือนไม้ปลูกเรียงเป็นระยะเข้าไปสองสามหลัง ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงประตูวังให้เห็นอยู่บนแพร่งสรรพศาสตร์เท่านั้น ซึ่งถนนแพร่งสรรพศาสตร์นี้เป็นถนนที่สร้างตัดผ่านพื้นที่วังเดิมเพื่อเชื่อมถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์ อันเป็นผลทำให้อาคารต่างๆ ที่เคยเป็นวังเดิมสิ้นสภาพไป และสำหรับชื่อถนนนั้นก็นำมาจากพระราชทินนามของพระองค์ท่านผู้เป็นเจ้าของวังนั่นเอง สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นอยู่มีเพียงแต่ประตูวังสูงใหญ่ประมาณตึกสองชั้นที่ยังคงปรากฏให้เห็นถึงร่องรอยของวังเดิมที่โอ่อ่าและมีขนาดใหญ่ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ดูจากช่องของประตูดังกล่าวทำเป็นวงโค้งหรือ Arch (ลักษณะของสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส) เหนือวงโค้งนั้นมีหน้าบันเจาะไว้เป็นวงกลม ในช่องนั้นมีประติมากรรมรูปผู้หญิงขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่ในท่ายืนถือคบไฟ สองข้างประติมากรรมชิ้นนี้แบ่งเป็นช่อง กรุด้วยกระจกหลากสี ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดเสียหายไปบางแผ่น ประตูแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยเฉพาะส่วนเสาค้ำยันด้านล่าง อีกทั้งมีการก่อสร้างอิฐเรียงค้ำยันเพื่อพยุงน้ำหนักของด้านบนกันล้มเพิ่มเติมไว้ทั้งสองข้าง โดยภายในด้านข้างจะมีคำจารึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประตูวังแห่งนี้อย่างคร่าวๆ

บริเวณแพร่งภูธร แพร่งภูธรมีชื่อถนนมาจากพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ ต้นราชสกุลทวีวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ทรงประทับ ณ วังซึ่งพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้น ณ พื้นที่ที่เคยเป็นวังเก่ามาก่อนตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรียกว่า วังริมสะพานช้างโรงสีหรือวังเหนือ เป็นที่ประทับเดิมของพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 คือกรมหมื่นสนิทนเรนทร์และกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา เมื่อพระองค์เจ้าทั้งสองสิ้นพระชนม์ลงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินโปรดให้สร้างวังขึ้นใหม่ คือบริเวณหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้า ริมถนนบ้านตะนาว

ในการสร้างวังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อตำหนักในพระราชวังนันทอุทยานมาสร้างเป็นที่ประทับพระราชทานกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ หลังจากกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2440 ทายาทของพระองค์ได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว จากนั้นพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า "ถนนแพร่งภูธร" บริเวณแพร่งภูธรจรดถนน 3 ด้าน ได้แก่ ถนนอัษฎางค์ ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว ปัจจุบันวังซึ่งเป้นที่ประทับของกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ที่ยังเหลือให้เห็นคือตึกอนุสรณ์สมเด็จพระปิตุจฉาสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งปัจจุบันเป็น "สุขุมาลอนามัย" กับตึกแถวบริเวณโดยรอบที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5  ถือว่าแพร่งภูธรเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลามากกว่าบริเวณอื่น คือนอกจากการเกิดใหม่ของอาคารพักอาศัยและอาคารพาณิชย์แล้ว ยังเกิดสถานบริการชุมชนด้านสาธารณสุขคือสถานีอนามัยสุขุมาล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2466 ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแพร่งภูธรในขณะนั้นเป็นตึกแถวสูงสองชั้นโอบล้อมพื้นที่ว่าซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวตำหนักเดิม มีการวางแนวตึกแถวให้หันหลังชนกับตึกแถวบริเวณริมถนนบำรุงเมือง ถนนอัษฎางค์ ถนนตะนาว และถนนแพร่งนรา

ผู้คนในชุมชน
ชุมชนคลองคูเมืองเดิมแห่งนี้เกิดขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ในระยะนั้นบริเวณรอบเมืองพระนครมักจะมีการขุดคลองเพื่อใช้โดยสารติดต่อกัน โดยมีคลองคูเมืองเดิมเป็นคลองสายหลักจนเกิดการรวมตัวของผู้คน  อีกทั้งชุมชนนี้ก็เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เขตพระบรมมหาราชวังและเคยเป็นวังเก่าของพระบรมวงศานุวงศ์  รวมทั้งเป็นที่พักอาศัยของ ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และช่างฝีมือในพระราชวังในอดีต โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินในเขตนี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนในสังคมชั้นสูงที่มักจะเป็นเชื้อพระวงศ์ เมื่อข้าราชบริพารเหล่านี้เสียชีวิตลงประกอบกับบางส่วนได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ต่อมาชาวจีนพากันอพยพเข้ามาอยู่อาศัยแทน เป็นเหตุทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อลูกหลานของชาวจีนเหล่านี้เติบโตขึ้นก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนมักจะเป็นอาชีพค้าขาย

สามแพร่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ร่วมกันของวังกับบ้าน โดยมีการสร้างวังพร้อมกับการสร้างตึกแถวให้ผู้คนเช่าบริเวณหน้าวังหรือรอบวังเพื่อหารายได้  เห็นได้ชัดเจนจากวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และในภายหลังกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงซื้อวังของกรมหมื่นภูธเรศฯ และโปรดให้รื้ออาคารเก่าแล้วสร้างขึ้นเป็นตึกแถวให้ชาวต่างชาติและชาวบ้านมาเช่าเปิดห้างร้านและอาศัยอยู่รอบวังแทน

สภาพชุมชนสามแพร่งในอดีตถือเป็นย่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคสมัยนั้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบสัญจรทางบก ทั้งแนวทางรถรางและรถประจำทางในสมัยต่อมาและการสร้างตึกพาณิชย์อยู่อาศัยขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีการประกอบการค้าที่เฟื่องฟูมาก เพราะที่ตั้งชุมชนมีทำเลอยู่ในตำแหน่งที่เป็นตัวเชื่อมของเมืองเก่าที่ออกสู่เมืองชั้นนอกที่สำคัญ  และด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนนั้นค่อนข้างรุ่งเรือง ทำให้ย่านดังกล่าวกลายเป็นแหล่งที่จับจ่ายซื้อของและเส้นทางในการสัญจร ดังนั้นร้านค้าในย่านนั้นจึงเป็นร้านที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากผู้คนจนมาถึงปัจจุบัน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการตั้งหน่วยงานราชการสำคัญในบริเวณสามแพร่ง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม จึงมีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมายเพื่อไว้บริการข้าราชการและผู้มาติดต่อ นอกจากนี้สามแพร่งยังเป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องแบบข้าราชการและนักเรียน ตลอดจนเครื่องหนัง แว่นตา นาฬิกา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่งเสริมให้ความคึกคักและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2500  ต่อมาเมื่อการจราจรลดความหนาแน่นลงและการย้ายส่วนราชการออกไปจากพื้นที่ทำให้ผู้คนลดลง การค้าย่านสามแพร่งจึงไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต คนในชุมชนจึงหันมาขายของให้กับนักท่องเที่ยวแทนกลุ่มข้าราชการเช่นในอดีต

กลุ่มชุมชนริมคลองคูเมืองเดิม ชุมชนแพร่งนรา ชุมชนแพร่งภูธร เป็นสังคมเมืองที่ยังคงมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะกับส่วนวิชาชีพหรือการค้าเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ร้านช่างทอง โดยมาเป็นร้านชุบทองหรือโลหะมีค่าประเภทอื่นๆ ในส่วนพื้นที่สามแพร่งยังคมมีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่เช่นสมัยก่อนที่ตรอกช่างทองยังมีชื่อเสียง คงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจายไปภายในทั้งสามแร่ง ร้านอหารและร้านขนม ร้านอาหารมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและขายต่อเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะแพร่งภูธรและแพร่งนรา เช่น ร้านข้าวเหนียวมูน ก.พานิช  ร้านอุดมโภชนา  นัฐพรไอศกรีม ร้านโชติจิตร  ลูกชิ้น-สมองหมู ไทยทำ ในย่านแพร่งภูธร  และขนมเบื้องไทยโบราณในย่านแพร่งนรา เป็นต้น นอกจากนี้ยังร้านอื่นๆ เช่น ร้านแพทย์แผนไทย และร้านขายของเก่า แต่เริ่มชะลอการค้าขายไปเนื่องจากลูกหลานหันไปทำอาชีพอื่น

สามแพร่งถือเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม  และทั้งย่านที่อยู่อาศัย สืบทอดวิถีชีวิตมาถึงสามชั่วอายุคน ซึ่งผู้คนในชุมชนสามแพร่งต่างตระหนักถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมภายในชุมชน จึงพยายามอนุรักษ์สิ่งเดิมให้คงอยู่ตลอดไป

บรรณานุกรม
ฐานิศวร์ เจริญพงศ์. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
วรรณพา แก้วมณฑา. (2556). ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านงานสถาปัตยกรรมย่านชุมชนสามแพร่ง. การศึกษาเฉพาะบุคคลในประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ย่านการค้า "ตะวันตก" แห่งแรกของกรุงเทพฯ : สามแพร่ง แพร่งภูธร แพร่งและนรา แพร่งสรรพศาสตร์ . กรุงเทพฯ : มติชน, 2547

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com