ท่าราชวรดิฐ


ที่ตั้ง
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง ถนนมหาราช แขวงพระบรมมาหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด แม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศใต้  จรด แม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก จรด  ถนนมหาราช
ทิศตะวันตก  จรด แม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติ
ท่าราชวรดิษฐ์เป็นท่าเทียบเรือเฉพาะเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เรียกกันว่าพระฉนวนน้ำ โดยมีกำแพงฉนวนกั้นมาจากประตูพระบรมมหาราชวังฝ่ายในจนถึงบริเวณริมน้ำ ที่ท่าทำเป็นศาลาใหญ่มุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา 1 หลัง  ด้านหน้าศาลามีมุขลดเล็กๆ เป็นซุ้มประตูไม้ตรงต้นสะพาน เป็นที่พาดบันไดประทับเรือพระที่นั่ง ในปี พ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างพระตำหนักแพลอยขนาด  5 ห้อง มีเฉลียงรอบฝากระดานลูกกรงทาสีเขียวแดง ภายในเขียนลายลดน้ำทอง เสาเขียนลายพุมข้าวบิณฑ์ปิดทอง หลังคามุงจาก มีช่อฟ้าใบระกา จอดไว้ทางเหนือ พระฉนวนน้ำเป็นที่เสด็จประทับเมื่อมีพระราชพิธีลอยพระประทีปในเดือนสิบเอ็ด สิบสอง ภายหลังโปรดให้เรื้อพระตำหนักแพลอยน้ำในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วโปรดให้สร้างพระที่นั่งสามหลังที่ริมน้ำตรงพระฉนวนน้ำเดิม มีลักษณะเป็นเรือนไม้มีฝากระดานรอบสามด้าน ด้านหน้าเป็นกรงตั้งอยู่บนคานปลายเสาตอม่อคล้ายเรือนแพ หลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา มุขด้านหน้าริมน้ำเป็นมุขลดสองชั้น หน้าบันประเจิด เสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พระตำหนักน้ำ

tarachvoradit clip image002 0001

tarachvoradit clip image002

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อตำหนักเดิมแล้วลงเขื่อนถมที่ขึ้นเสมอพื้นแผ่นดิน  สร้างพระที่นั่งขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพลับพลาสูงตรงกลางหนึ่งองค์ พระราชทานพระนามว่าพระที่นั่งชลังคพิมาน ต่อจากพลับพลาสูงเข้าไปทางด้านตะวันออก มีพระที่นั่งสูงเป็นที่ประทับองค์หนึ่งพระราชทานนามว่าพระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิตย์ ด้านเหนือลดพื้นต่ำลงมาเป็นท้องพระโรงผ่านหน้าองค์หนึ่งพระราชทานพระนามว่าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และด้านใต้เป็นพระที่นั่งเหมือนกับพระที่นั่งด้านเหนือ เป็นที่พักผ่อนฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง พระราชทานพระนามว่าพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์

ตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าเสด็จลงเรือ ก่อเขื่อนทำสระเป็นที่สรงสระหนึ่ง ก่อกำแพงเป็นบริเวณข้างในทั้ง  3 ด้าน มีป้อมริมน้ำปลายกำแพงด้านเหนือ พระราชทานชื่อว่าป้อมพรหมอำนวยศิลป์ ป้อมข้างใต้ตรงกันชื่อว่าป้อมอินร์อำนวนศร โปรดให้เรียกรวมกันทั้งบริเวณว่า "ท่าราชวรดิษฐ์" แปลว่าท่าอันประเสริฐแห่งราชการ  แม้ว่าจะพระราชทานชื่อเช่นนั้น แต่ในสมัยก่อนประชาชนยังเรียกติดปากว่า ท่าขุนนาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งในท่าราชวรดิฐชำรุดทรุดโทรมจึงโปรดให้รื้อออก เหลือไว้เพียงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเพียงองค์เดียว นอกนั้นปรับพื้นที่ทำเป็นสนามดังที่เห็นกันในปัจจุบัน

 tarachvoradit clip image002 0002พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ในปี 2547  tarachvoradit clip image0007พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ในปี 2559

ด้านเหนือของท่าราชวรดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง เรียกว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ ปัจจุบันเป็นท่าเรือรับส่งข้าราชการทหารเรือและประชาชนทั่วไป เพื่อข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี ขึ้นตรงกรมอู่ทหารเรือ

tarachvoradit clip image0005

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เดิมเป็นตำหนักน้ำ  ปักเสาลงในน้ำทอดคานเหมือนอย่างแพ หลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันตัวท่าเป็นเหล็ก มีราวเหล็กดัดทั้งสองข้าง ตั้งแต่สะพานที่ทอดลงสู่ท่าน้ำจนถึงรอบพระตำหนัก เว้นด้านหน้าเพียงด้านเดียวเพือใช้เป็นทางเสด็จขึ้น-ลง ราวเหล็กดัดนี้ตกแต่งสวยงาม ส่วนบนโล่งไม่มีหลังคา

tarachvoradit clip image0006

 

 

บรรณานูกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม  4กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com